วันศุกร์, 29 พฤศจิกายน 2567

ศบค. เห็นชอบยกเลิกเคอร์ฟิว พร้อมผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 4 แต่ยังคงมาตรการการเดินทางเข้าประเทศ

12 มิ.ย. 2020
716

ณ  ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) นายกรัฐมนตรีชื่นชมที่จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทยเป็น 0 ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม– วันที่ 12 มิถุนายน 2563 รวม 18 วัน ในส่วนของสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อในโลก ประเทศไทยเลื่อนลงมาอยู่ในลําดับที่ 85 จากที่เคยอยู่อันดับ 2 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ถือเป็นความสําเร็จร่วมกันของคนไทยทุกคน รวมทั้งต้องขอบคุณความร่วมมือกับต่างประเทศ ซึ่งจะต้องประสานความร่วมมือระหว่างกันอย่างใกล้ชิด ให้การดูแลประชาชนและแรงงานที่เดินทางข้ามเขตอย่างปลอดภัย ปลอดเชื้อ 
 นายกรัฐมนตรีห่วงกังวลต่อการผ่อนคลายกิจการและกิจกรรมเพิ่มเติมในระยะที่ 4 นี้ ซึ่งน่าจะครอบคลุมทุกกิจการ กิจกรรมทั้งกลุ่มเสี่ยงน้อย เสี่ยงกลาง และเสี่ยงมาก ทั้งนี้ เพื่อฟื้นวิถีชีวิตทาง เศรษฐกิจให้ดํารงอยู่ได้ แต่ในระยะที่ 4 เป็นกิจการ กิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดในระลอกสอง (Second Wave) จึงขอให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านความมั่นคง เพิ่มความเข้มข้น ในการตรวจการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนดรวมทั้งให้โฆษก ศบค. ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ และสร้างความเข้าใจ ให้กับประชาชนในการดําเนินชีวิตแบบวิถีใหม่ หรือ New Normal ซึ่งจะยังคงเป็นไป ตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนด อาทิ การขอความร่วมมือให้ใช้ Application ไทยชนะ เพื่อตรวจสอบการเข้า-ออกจะได้ตรวจสอบบุคคลที่อยู่ในพื้นที่และอาจมีความเสี่ยงได้ ทั้งนี้ ในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสาธารณสุข การวิจัยวัคซีน และยา ให้พิจารณาการหารือสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม
 ในส่วนของการเตรียมสถานที่กักกันโรค (Quarantine) เพื่อรองรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรทั้งในส่วนของคนไทย และคนต่างชาติ อาจจะเพิ่มรูปแบบให้มากขึ้น เช่น การเพิ่มสถานกักกันโรคท้องที่แบบทางเลือกสําหรับนักท่องเที่ยว (Alternative Local Area Quarantine) และการเพิ่มสถานที่กักกันโรคของหน่วยงานภาครัฐหรือภาคธุรกิจ (Organization Quarantine) เป็นต้น ทั้งนี้ให้ยึดแนวทางตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนดที่ได้ดําเนินการในช่วงที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เพื่อให้การบริหารสถานการณ์ในภาพรวมยังคงมีประสิทธิภาพอย่างเช่นที่ผ่านมา
 ด้านการช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการของกระทรวงการคลังพิจารณาแนวทางให้ความช่วยเหลือในการช่วยเจรจาขอผ่อนปรน ผ่อนผันเรื่องการค้างค่าเช่าสถานที่ พื้นที่ประกอบกิจการ ค่าเช่ารถแท็กซี่ ค่าเช่ารถ เพื่อประกอบกิจการรถเช่าเพื่อการท่องเที่ยวและค่าเช่าอื่น ๆ ที่ใช้ในการประกอบ อาชีพ เพื่อลดและบรรเทาผลกระทบให้แก่ผู้ประกอบการอีกทาง และส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวนั้น นายกรัฐมนตรีสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับแผนยุทธศาสตร์ โดยเน้นการท่องเที่ยวของคนในประเทศ และใช้โอกาสนี้ผลักดันเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางบริการ ทางด้านสุขภาพ การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ พัฒนาบุคลากรด้าน วิทยาศาสตร์สุขภาพรองรับความต้องการในอนาคต ยกระดับศักยภาพของ สถานพยาบาลและทรัพยากรบุคคลในระบบสาธารณสุขลงไปถึงระดับท้องถิ่นชุมชน
 นายกรัฐมนตรีได้มอบแนวทางในการทำงานในประเด็นสำคัญๆ ได้แก่ ในขณะนี้ สถานการณ์ในประเทศไทยดีขึ้นเป็นที่ยอมรับจากต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ขอให้ให้ความสำคัญกับมาตรการดูแลการเดินทางข้ามเขตของประชาชน และแรงงานผ่านประเทศที่มีเขตแดนติดกันอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ปลอดเชื้อ 
การรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้รายงานการดำเนินการของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยรายงานถึงจำนวนผู้ป่วยที่มาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ยังมีตัวเลขการติดเชื้อจำนวนมาก อาทิ สหรัฐฯ บราซิล รัสเซีย และปากีสถาน รวมทั้งต้องติดตามสถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมาที่พบว่ามีตัวเลขการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 
 ในประเด็นนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางในการพิจารณากำหนดมาตรการภายหลังยกเลิกมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าออกราชอาณาจักร การกักตัวยังเป็นมาตรการที่สำคัญ สถานที่กักตัวต้องผ่านการตรวจสอบขึ้นทะเบียน มีรายละเอียดการดำเนินการที่ครบถ้วน รวมทั้งการควบคุมผ่านการขนส่งสาธารณะในประเทศ รายงานการประเมินผลการดำเนินมาตรการผ่อนคลาย
 พลเอก พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง รายงานว่ามาตรการที่ดำเนินการขณะนี้ ยังใช้ชุดตระเวนตรวจ ควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์ ป้องปรามอย่างต่อเนื่อง โดยจะปรับลดจุดตรวจเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ ทั้งนี้ ในส่วนของการผ่อนคลายสถานการณ์ด้วยการยกเลิกเคอร์ฟิวอาจทำได้ แต่ผลกระทบที่จะตามมาคือ อาจเกิดการฝ่าฝืน ทำผิดกฎหมาย และเหตุอาชญากรรม 
 นายเฉลิม พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้รายงานในส่วนของศูนย์ปฏิบัติการด้านมาตรการป้องกันและช่วยเหลือประชาชนว่าเป็นไปด้วยความเรียบร้อยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกฝ่าย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณทุกฝ่ายรวมไปถึงฝ่ายการปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย 
 พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร ได้รายงานผลการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เช่น การแจกเครื่องอุปโภค บริโภค เจลล้างมือ สำหรับผู้ขาดแคลน และความพร้อมในการเตรียมการสำหรับการเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 โดยหารือในประเด็นเรื่องรูปแบบ และความพร้อมกับโรงเรียนต่างๆ ตลอดจนได้พิจารณาในส่วนของการนำผลผลิตอื่นๆ เช่น คลิปการเรียนการสอน เพื่อนำมาเสริมนอกเหนือจากการเรียนการสอนในชั้นเรียน ในส่วนนี้ นายกรัฐมนตรีสั่งการให้พิจารณาดูแลโรงเรียนที่ห่างไกล โรงเรียนที่ตั้งบริเวณชายแดน ให้ยังคงประสิทธิภาพ และได้รับผลกระทบด้านการเรียนการสอนน้อยที่สุด แนวทางการเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวอย่างจำกัด (Travel Bubble)
 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รายงานเกี่ยวกับแนวคิด Travel Bubble การเชื่อมต่อการเดินทางระหว่าง 2 ประเทศที่สามารถบริหารจัดการโรค COVID-19 ได้ดีเท่าๆ กัน โดยพิจารณาจาก1. สถานการณ์การระบาดในประเทศนั้น มีการผ่อนคลายการควบคุมโรคแล้วหรือไม่ 2. มีการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศอยู่หรือไม่ และ 3. ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มีต่อกัน 
ปัจจัยความสำเร็จ คือ ไม่มีผู้ติดเชื้อ หรือมีจำนวนผู้ติดเชื้อในจำนวนที่ใกล้เคียงกันและมีการจัดการที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพเท่าๆกัน ทั้ง 2 ประเทศต้องมีความเชื่อมั่นในการจัดการเรื่อง COVID-19 ซึ่งกันและกัน ต้องมีมาตรการตรวจหาเชื้อและป้องกันอย่างเข้มงวด โดยต้องตรวจเชื้อโควิดก่อนเดินทางออกนอกประเทศต้นทาง และตรวจอีกครั้งเมื่อเดินทางเข้าไทย ตัวอย่างประเทศที่มีแนวคิดดังกล่าว เช่น  สิงคโปร์ กับ จีน (บางเมือง) / ออสเตรเลีย กับ นิวซีแลนด์ เป็นต้น
 ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานรวบรวมผลที่ได้จากการปฏิบัติการภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เช่น 1) การใช้ Application ไทยชนะในการควบคุมโรค 2) มาตรการ State Quarantine 3) การบริหารสถานการณ์จำกัดเชื้อ 4) การควบคุมการสัญจร 5) การตรวจเข้าบังคับ การออกกฎระเบียบ และสั่งการให้ร่วมกันพิจารณามาตรการป้องกัน และควบคุม อย่างรอบคอบครบถ้วน เพื่อดูแลนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทย โดยอาจพิจารณาการทำ swap test มีช่องทางการติดตามตัว อยู่ในพื้นที่ที่ควบคุมได้ หรือกำหนดให้มีประกันสุขภาพ
ข้อเสนอมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 4 พลเอก สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เสนอข้อกำหนดในมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 4 ให้ยกเลิกเคอร์ฟิว แต่ยังคงควบคุมเดินทางเข้าราชอาณาจักรไทยอย่างเข้มข้นทั้งทางบก/น้ำ/อากาศ ต่อไป 
 โดยการผ่อนผันการใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ สำหรับการเรียนการสอน อบรม สัมมนา ในรูปแบบวิถีใหม่ ดังนี้ 1. การใช้อาคารสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนประเภทนานาชาติ หรือสถาบันการศึกษาหลักสูตรนานาชาติ และโรงเรียนนอกระบบ ประเภทกวดวิชา 2. การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในระบบที่มีนักเรียนรวมทั้งโรงเรียน ไม่เกิน 120 คน 3. การใช้อาคารสถานที่ของหน่วยงานราชการและหน่วยงานในกำกับของรัฐ เพื่อการอบรม สัมมนาในหลักสูตรฝึกอบรมที่หน่วยงานจัดขึ้น ตลอดจนเสนอประเภทกิจการ กิจกรรมที่ผ่อนคลายในระยะที่ 4 ได้แก่ กิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต กิจกรรมออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพหรือสันทนาการ การขนส่งสาธารณะข้ามพื้นที่จังหวัด โดยต้องกำหนดมาตรการควบคุมทุกกิจการ กิจกรรม เป็นต้น

Loading