เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 สำนักบริการวิชาการ มข. ร่วมกับ เทศบาลเมืองศิลา เปิดโครงการการ พัฒนาทักษะการเตรียมความพร้อมในการประกอบอาชีพของคนพิการในจังหวัดขอนแก่น ณ หอประชุมเทศบาลเมืองศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น
โดยได้รับเกียรติจาก นายบำเพ็ญ โคตรเทิ้ง รองนายกเทศมนตรีเมืองศิลา กล่าวต้อนรับคนพิการที่เข้าร่วมโครงการพร้อมกล่าวว่า เทศบาลเมืองศิลามีคนพิการที่ขึ้นทะเบียน 1,029 ราย ซึ่งทางเทศบาลเมืองศิลาได้มีการจัดตั้งศูนย์บริการคนพิการตำบลศิลา เพื่อให้ความสำคัญกับกลุ่มคนพิการ และให้การส่งเสริมในด้านต่าง ๆ พร้อมนี้เทศบาลเมืองศิลาขอขอบคุณมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มีโครงการสร้างโอกาสให้คนพิการได้มีการพัฒนาศักยภาพและทักษะความรู้ในการฝึกอาชีพ สร้างรายได้ และสามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ ลดรายจ่ายในครัวเรือน และยังได้มีการพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความสามัคคี เกิดการร่วมกลุ่มของคนพิการอีกด้วย
รศ.น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยเครือข่าย 5 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระเจ้าเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี ร่วมกับ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือโครงการนําร่องการสนับสนุนสถานศึกษาเพื่อกระจายการเพิ่มศักยภาพของคนพิการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการ ภายใต้การดําเนินงานโครงการ “การขยายผลเครือข่ายอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาศักยภาพคนพิการเพื่อการประกอบอาชีพ” ผ่านโมเดลการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ มจธ. เพื่อให้คนพิการผู้ผ่านโครงการมีศักยภาพและมีทักษะการทำงานตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ และคนพิการผู้ผ่านโครงการได้มีความรู้ ความสามารถผ่านการฝึกอาชีพและมีรายได้เลี้ยงตัวเอง และยังตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ SDGs 4 ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการสร้างความเท่าเทียมให้กับคนพิการเพื่อสร้างความยั่งยืน อีกด้วย โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
กิจกรรมในวันนี้เป็นการชี้แจงรายละเอียดของหลักสูตรสำหรับการประกอบอาชีพของคนพิการ โดย รศ.ดร.ดวงจันทร์ นาชัยสินธุ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยากรประจำโครงการ โดยมุ่งส่งเสริมศักยภาพคนพิการ สู่การมีงานทำและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน เน้นการถ่ายทอดความรู้ เทคนิค และวิธีการประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ที่สามารถนำไปประกอบอาชีพ สร้างรายได้ ซึ่งมีคนพิการที่สนใจลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมหลักสูตรสำหรับฝึกอาชีพสำหรับคนพิการทั้งด้านหัตถกรรม/งานฝีมือ และ หลักสูตรถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผักปลอดภัยและเกษตรประณีต (แปรรูปอาหารและเกษตรกรรม) กว่า 25 คน
นายไพศล เจริญคุณ ซึ่งเป็นคนพิการด้านการเคลื่อนไหว(ขาเทียม) กล่าวว่า ปัจจุบันตนประกอบอาชีพรับจ้างเย็บผ้าและมีร้านเป็นของตนเอง การได้มาเข้าร่วมในวันนี้ก็รู้สึกสนใจอยากที่จะเข้าร่วมหลักสูตรด้านหัตถกรรม/งานฝีมือ เนื่องด้วยอาชีพที่เราทำอยู่ ทำให้เรามีเศษผ้าที่เป็นวัตถุดิบอยู่แล้วเป็นจำนวนมาก เลยรู้สึกว่าเราสามารถนำเอาวัตถุดิบตรงนี้มาต่อยอดเป็นงานฝีมือตามที่ทางอาจารย์ได้นำเสนอมา และประกอบกับเราเองก็มีความสามารถในด้านเย็บปักเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงคิดว่าถ้าเรามีความรู้ความสามารถตรงนี้เพิ่มขึ้น จะทำให้เราเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้นอกเหนือจากงานที่เราทำอยู่อีกด้วย พร้อมกันนี้เราเองก็มีกลุ่มคนพิการด้วยกันที่มีความตั้งใจและพร้อมที่จะเรียนรู้เพื่อสร้างสินค้าใหม่ๆ เพื่อสร้างรายได้ สร้างอาชีพไปกับทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ภาพ-ข่าว : ชาลี พรหมอินทร์ สำนักบริการวิชาการ มข.