“ทวี”เยี่ยม “เอ็ม” หนุ่มบุรีรัมย์ที่ถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่ รพ.ธัญญารักษ์ขอนแก่น ครบ 1 อาทิตย์หลังแม่ทนไม่ไหวสร้างห้องขังลูกเหตุเพราะติดยาและการพนัน พบอาการดีขึ้น พร้อมประกาศเดินหน้ากวาดล้างยาเสพติดอย่างจริงจัง และสร้างคนให้มีความรู้ความสามารถทัดเทียมนานาประเทศ
เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 10 พ.ย.2567 ที่ รพ.ธัญญารักษ์ขอนแก่น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วย นายนิยม เติมศรีสุข ผู้ช่วย รมว.ยุติธรรม พร้อมคณะผู้บริหารจากกระทรวงยุติธรรมและ กระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่เยี่ยมนายเอ็ม (นามสมมุติ) อายุ 42 ปี ชาว อ.นางรอง จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งถูกนางสารภี (ขอสงวนนามสกุล) อดีตข้าราชการครูเกษียร ซึ่งเป็นมารดา สร้างห้องขังไว้ภายในบ้านพักหลังทนกับพฤติกรรมการติดยาเสพติดและการพนันไม่ไหว โดยมีนายไกรสร กองฉลาด ผวจ.ขอนแก่น,พล.ต.ต.อนุวัตร สุวรรณภุมิ ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น,นายพันเทพ เสาวโกศล รอง ผวจ.ขอนแก่น ,นพ.ชาญชัย ธงพานิช ผอ.รพ.ธัญญารักษ์ขอนแก่น และนายชินกร แก่นคง นายอำเภอเมืองขอนแก่น ร่วมให้การต้อนรับ
โดย พ.ต.อ.ทวี ได้พูดคุยกับ นางสารภี ผ่านระบบวีดีโอคอล เพื่อให้กำลังใจและรายงานความคืบหน้าขั้นตอนการบำบัดรักษา ในระยะ 1 สัปดาห์ที่นำตัวนายเอ็มจาก จ.บุรีรัมย์มาบำบัดที่ รพ.ธัญญารักษ์ขอนแก่น ก่อนที่จะเข้าตรวจติดตามการบำบัดฟื้นฟูนายเอ็ม ซึ่งอยู่ในกระบวนการบำบัดของ รพฯ.ร่วมกับผู้บำบัดรายอื่นตามตารางกิจกรรมที่กำหนด
นายเอ็ม กล่าวว่า การเข้ารับการบำบัดที่นี่ต่างจากที่อื่น ซึ่งก็จะตั้งใจเข้ารับการบำบัดรักษาตามวิธีทั้งหมดเพื่อที่จะเลิกและกลับบ้าน และขอฝากเพื่อนๆที่มาบำบัดให้มีความมุ่งมั่นตั้งใจจะได้กลับบ้านพร้อมกัน
ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นที่ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เป็นประเด็นสำคัญที่รัฐจะต้องจิรงจังในการปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด แม้บางพื้นที่รัฐจะบอกว่ารายงานเป็นศูนย์ แต่ชาวบ้านมาบอกว่ายังมียาเสพติดระบาดหรือมีพื้นที่เสี่ยง แบบนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ เราต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันทุกฝ่าย กรณีนายเอ็ม เดิมอาจจะมองว่าเป็นผู้ป่วยจิตเวช และเข้ารับการรักษาที่ รพ.นางรอง หรือหน่วยบำบัดต่างๆมาแล่วกว่า 10 ครั้งแต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ส่งมาบำบัดที่ รพ.ธัญญารักษ์ขอนแก่น ซึ่งครอบครัวก็มีความหวังว่านายเอ็มจะหายขาด ตามวิธีการบำบัดบัดรักษาทางการแพทย์เฉพาะทาง และที่สำคัญคือนายเอ็ม มีลูกด้วย ดังนั้นกระบวนการสร้างความเข้มแข็งที่เริ่มจากครอบครัวจะต้องจริงจังและชัดเจน
“รัฐบาลให้ความสำคัญกับการปราบปรามยาเสพติด ยกตัวอย่างธวัชบุรีโมเดล ที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่และกำหนดเป็นพื้นที่นำร่องปลอดยาเสพติด ซึ่งจะต้องเข้มงวดตรวจซ้ำทุกพื้นที่ อย่างละเอียด ควบคู่ไปกับการบำบัด ซึ่งในการบำบัดรักษาขอนแก่น เป็นตัวอย่างที่สำคัญที่ทำได้จริงและอยู่ในลำดับต้นๆของประเทศ เพราะเมื่อปราบปรามจับกุมผู้ค้ามาดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว ผู้เสพ ยังคงมีการบำบัดด้วยวิธีทางการแพทย์ตรวจเข้ม ตรวจซ้ำ จาก รพ.แล้วยังคงมาอยู่ในศูนย์ฟื้นฟูหรือซีไอ ที่ตั้งขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในรายละเอียดของผู้นำที่ทำจริง และต้องการแก้ไขปัญหาให้กับจังหวัดลงลึกไปในระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ก้าวต่อไปคือการสร้างคน”
รมว.ยุติธรรม กล่าวต่ออีกว่า จากข้อมูลผู้ที่ถูกคุมขังในคดียาเสพติด พบว่ามีกว่า 200,000 รายที่การศึกษาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าภาคเรียนบังคับ ดังนั้นการสร้างคน ให้มีคุณภาพแม้จะเป็นผู้ที่ถูกคุมขังหรือต้องราชทัณฑ์กระทรวงยุติธรรมจะนำเรื่องนี้มาบูรณาการกับกระทรวงศึกษาธิการหรือ กระทรวง อว.ให้กับผู้ที่ถูกคุมขังได้เรียน ทั้งแบบวิชาการ และวิชาชีพ เพราะเมื่อกลุ่มคนเหล่านี้พ้นโทษออกไปก็จะมีความรู้จากงานด้านวิชาการและวิชาชีพติดตัวไปด้วย อย่างไรก็ตามจากการลงพื้นที่ครั้งนี้พบว่าผู้เสพ ที่เข้ารับการบำบัดนั้นมีอายุต่ำสุดคือ 14 ปี และติดมาจากสังคมในครอบครัว และแม้จะเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาแล้วแต่ก็เป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลยอมไม่ได้และจะต้องทำงานกันอย่างหนักและจริงจังมากขึ้น