
สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ ธนาคารออมสิน นำเสนอแนวทางการพัฒนากลุ่มองค์กรชุมชน ภายใต้โครงการ เสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ประจำปี 2568 “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” ภายใต้งบประมาณสนับสนุนจากธนาคารออมสิน
วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน 2568 เวลา 13.00 น. มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสำนักบริการวิชาการ ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมการนำเสนอแนวทางการพัฒนากลุ่มองค์กรชุมชน(โครงการย่อย 5 โครงการ) ณ ห้องประชุมดุสิตา ชั้น 5 สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และผ่านระบบออนไลน์ (Zoom Meeting) โดยมี รองศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ


ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการ และคุณศราวุธ สุขเลิศตระกูล ผู้อำนวยการเขตขอนแก่น 1 กล่าวพบปะและให้กำลังใจกลุ่มองค์กรชุมชนและนักศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ปี 2568
โดยมีกรรมการให้คำแนะนำจากธนาคารออมสิน จำนวน 3 ท่าน ได้แก่
1) นายชัยวัฒน์ อุทัยนูญ ผู้จัดการธนาคารออมสินสาขามะลิวัลย์ 2) นายอติศาสตร์ เพียงเกษ พนักงานสนับสนุนธุรกิจ 7 หน่วยพัฒนาสังคมและชุมชน ธนาคารออมสินภาค 11
กรรมการให้คำแนะนำจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 1 ท่าน ได้แก่ 1) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรพล เนสุสินธุ์ รองผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการฝ่ายบริการวิชาการ



ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” มีวัตถุประสงค์ 3 หลัก ประกอบด้วย เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักศึกษา คณาจารย์ นักวิจัย ในการทำงานเป็นทีม สร้างและพัฒนาการคิด วิเคราะห์ และดำเนินงานเป็นทีม และการร่วมงานระหว่างศาสตร์สาขา และชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้นักศึกษาสามารถพัฒนาและนำองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องในศาสตร์สาขาไปใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น ทั้งศาสตร์ด้านการพัฒนาอาชีพ และการพัฒนาระบบบัญชีต้นทุน การจัดทำบัญชีรับจ่ายครัวเรือน เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยการประกอบอาชีพที่มีความมั่นคง สร้างรายได้ทั้งรายได้หลักและรายได้เสริมเกิดการกระตุ้น ระบบเศรษฐกิจภายในชุมชน ซึ่งผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาได้ขับเคลื่อนโครงการ “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” มาอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างโอกาสเพิ่มพูนความรู้ และทักษะที่จำเป็นด้านอาชีพ เพิ่มรายได้ และความรอบรู้ในการดำรงชีวิตรวมถึงการพัฒนายุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและส่งเสริมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจในระดับชุมชนให้มีการเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยการบูรณาการภูมิปัญญาและทรัพยากรท้องถิ่นเข้ากับวิทยาการสมัยใหม่ของสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ช่วยให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ ด้วยนโยบายที่สอดคล้องกันระหว่างธนาคารออมสินและมหาวิทยาลัย



ในปีงบประมาณ 2568 นี้ได้มีการนำเสนอโครงการต่อธนาคารออมสินจำนวน 5 โครงการ ครอบคลุมจำนวน 5 ชุมชน จาก 4 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมืองขอนแก่น อำเภอหนองเรือ อำเภอสีชมพู อำเภอกุฉินรายณ์ โดยแบ่งเป็นกลุ่มโฮมสเตย์ท่องเที่ยว จำนวน 1 กลุ่ม ได้แก่ 1) ทีม Pink Paradise “โคกไม้งาม สวรรค์บนดิน ถิ่นสีชมพู” กลุ่มชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีบ้านโคกไม้งาม และกลุ่มสินค้าและบริการ จำนวน 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) ทีม CST “อร่อยทุกวัน ตามทันทุกเทรนด์” กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลาแปรรูปบ้านโพธิ์ตาก 2) ทีม สาวะถี XGen Z “สาวะถี สืบสทน สร้างสรรค์ ศิลปะบนผ้า พัฒนาอย่างยั่งยืน” ชุมชนบ้านสาวะถี 3) ทีม Rice Story “ให้ข้าวเล่าชีวิต” วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอินทรีย์เป็นสุข และ 4) ทีม ชีเสริฟผ้าขาวม้า “มข พร้อม พัฒน์” กลุ่มอาชีพคนพิการศิลา
ข่าว : วรรณวิษา ธนาจินตวิทย์





















