พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ย้ำรัฐบาลมีมาตรการช่วยวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม SMEs บรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด- 19 เพื่อเพิ่มโอกาสและความสามารถทางการแข่งขันในโลกธุรกิจใหม่ New Normal
นายกรัฐมนตรีแจงที่ประชุมว่า ที่ผ่านมารัฐบาลออกมาตรการเพื่อช่วย SMEs ทั้งมาตรการด้านภาษี เช่น การลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราร้อยละ 90 มาตรการด้านการลดต้นทุน ทั้งการลดดอกเบี้ย ขยายระยะเวลาชำระหนี้ การพักชำระค่าธรรมเนียม และมาตรการเข้าถึงแหล่งเงินใหม่ โดยจัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และการค้ำประกันสินเชื่อ เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย จำนวน 45,000 ล้านบาท ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจและการจัดสินเชื่อใหม่ (Soft Loan) 5 แสนล้านบาท โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งยังพบว่า SMEs บางรายยังติดขัดข้อกำหนดต่างๆทำให้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินใหม่ จึงได้มอบหมายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ จัดสรรเงินกู้ให้กับ SMEs ที่ไม่เข้าข่ายตามเกณฑ์ Soft Loan ของธนาคารแห่งประเทศไทย เพิ่มเติมอีกจำนวน 10,000 ล้านบาท ด้วย
นายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อช่วยเหลือ SMEs ไม่ต่ำกว่า 300,000 ราย รวมวงเงิน 14,064.8903 ล้านบาท เป็นเงินงบประมาณ 13,773.2661 ล้านบาท และเงินนอกงบประมาณ 291.6242 ล้านบาท ผ่านแผนงานบูรณา การพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง วิสาหกิจขนาดย่อม และวิสาหกิจรายย่อย กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารออมสิน เป้าหมาย
นายกรัฐมนตรีเน้นถึงบทบาท SMEs ว่า เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้มีความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืน ซึ่งภาคธุรกิจต้องปรับตัวภายใต้สภาวะแวดล้อมแบบ New Normal ที่การแข่งขันสูงและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ต้องใช้ความรู้และความเชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วนตามแนวคิด “รวมไทยสร้างชาติ” เป็นพลังร่วมฟื้นฟู พัฒนา และยกระดับ SMEs ของไทย ให้มีความเข้มแข็งและสามารถเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน