เมื่อวันที่ 14. ส.ค. 63 ที่ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออคิด จังหวัดขอนแก่น นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดโครงการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่ โดย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะฝ่ายเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เพื่อมอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนติดตามการดำเนินงานและรับทราบปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานโครงการ และนำเสนอองค์ความรู้ ประสบการณ์ ปัจจัยสู่ความสำเร็จ และข้อเสนอแนะต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพของพื้นที่ กลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมการประชุม คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ขนส่งจังหวัด ผู้แทนเทศบาล ผู้แทนองค์การบริหารส่วนตำบล จาก 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมจำนวน 200 คน
นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนน ถือเป็นภัยคุกคามต่อการเสียชีวิตของประชาชนอยู่ในขณะนี้ ประเด็นเร่งด่วนที่ต้องบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนในการดำเนินการเสริมสร้างประสิทธิภาพการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่ โดยใช้กลไกศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการขับเคลื่อนนโยบาย กรอบแนวคิด ยุทธศาสตร์ มาตรการ และแผนงานด้านความปลอดภัยทางถนนไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม สร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน รวมทั้งเป็นหน่วยรับผิดชอบในการขับเคลื่อนมาตรการและแผนงานด้านความปลอดภัยทางถนนให้บรรลุเป้าหมาย โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมคิด ร่วมวางแผน และร่วมรับผิดชอบ ของคนในพื้นที่ ในการสร้างนวัตกรรมทางสังคมด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนให้เกิดความปลอดภัยและมีความยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้สามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือ 21 คน ต่อประชากรแสนคน ภายในปี 2563 ตามค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2561 – 2564 โดยแต่ละจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น ได้ร่วมการคัดเลือกพื้นที่ตำบลที่มีความเสี่ยง จำนวน 1,085 ตำบล และมีการจัดทำแผนงานเพื่อบูรณาการร่วมกันทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่นเพื่อลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน