วันเสาร์, 30 พฤศจิกายน 2567

พพ.ชงเสนอหลักเกณฑ์ให้คณะกรรมการ 3 ชุด อนุมัตินำร่องโรงไฟฟ้าชุมชน 150 เมกะวัตต์

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เผย จัดทำหลักเกณฑ์ใหม่โรงไฟฟ้าชุมชนเสร็จแล้ว เตรียมเสนอรับซื้อไฟฟ้า 150 เมกะวัตต์ ต่อ  คณะกรรมการ 3 ชุด ก่อนเปิดรับฟังความเห็นประชาชน ยืนยันใช้วิธีแยกประมูลระหว่างกลุ่มชีวมวลและกลุ่มก๊าซชีวภาพ ในขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุไม่เห็นด้วยกับวิธีประมูล วอนพิจารณาใช้วิธีคัดเลือกและจับฉลากเพื่อความยุติธรรม ป้องกันการประมูลราคาต่ำแต่ทำไม่ได้จริง

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยภายหลังร่วมงานสัมมนา AEDP ภาคประชาชน หรือ Alternative Energy Development Plan ภาคประชาชน ที่จัดโดยกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ร่วมกับ มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชนว่า ได้จัดทำ (ร่าง) กรอบหลักเกณฑ์เงื่อนไขโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากเสร็จแล้ว และยังเหลือขั้นตอนการพิจารณาอีก 3 คณะ คือ คณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าโรงไฟฟ้าชุมชน ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ,คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งหากผ่านการอนุมัติแล้ว ทาง พพ.จะจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน(ประชาพิจารณ์) หลักเกณฑ์เงื่อนไขโครงการฯในรายละเอียดอีกครั้ง และยืนยันจะเปิดประกาศรับซื้อไฟฟ้าได้ในเดือน ม.ค. 2564 นี้

เบื้องต้น โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ อยู่ระหว่างกำหนดกรอบรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเป็น 150 เมกะวัตต์ จากเดิมสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เสนอแนะให้จัดทำโครงการนำร่องรับซื้อไฟฟ้าอยู่ที่ 100 เมกะวัตต์ โดยวิธีการคัดเลือกโครงการนั้น ทางกระทรวงพลังงาน จะใช้วิธีการเปิดประมูลแข่งขันด้านราคารับซื้อไฟฟ้า ซึ่งจะไม่กระทบต่อราคารับซื้อวัตถุดิบ เพราะจะเป็นการกำหนดให้ประมูลแข่งขันในส่วนของโรงไฟฟ้าไม่ใช่ในส่วนของเชื้อเพลิง และจะแยกแข่งขัน 2 ประเภทเชื้อเพลิง ระหว่างเชื้อเพลิงชีวมวล กับ เชื้อเพลิงชีวภาพ

ทั้งนี้ พพ. เห็นว่าหากใช้วิธีการจับฉลากเพื่อคัดเลือกโครงการจะยุ่งยากกว่าการประมูล และจะกำหนดให้ผู้ดำเนินโครงการต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกันในส่วนของรัฐและชุมชนในอัตราที่สูงขึ้น เพื่อป้องกันการละทิ้งโครงการ โดยส่วนของชุมชน เบื้องต้นกำหนดอัตรา 4,000-8,000 บาทต่อไร่ ส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าต่อโรง อยู่ที่ 3-6 เมกะวัตต์

นายนที สิทธิประศาสน์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.ต้องการให้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนใช้ระบบคัดเลือกและจับฉลากเข้าร่วมโครงการ แทนการประมูลเนื่องจากเห็นว่าหากใช้วิธีประมูลจะประสบปัญหาเหมือนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ SPP Hybrid Firm ปี 2560 ที่ผู้ชนะประมูลยังไม่สามารถเดินหน้าโครงการได้จนเลยกำหนดการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA)ไปแล้ว ทั้งนี้อาจเกิดจากปัญหาในการรับฟังความเห็นของประชาชน หรือเกิดจากความไม่คุ้มค่าในการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าที่ประมูลมาได้ในราคาต่ำก็เป็นได้ ดังนั้นโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเป็นโครงการสำคัญที่ผลประโยชน์จะตกถึงชาวบ้านและเกษตรกรจึงไม่ต้องการให้เกิดปัญหาดังกล่าว จึงควรใช้วิธีคัดเลือกคุณสมบัติและจับฉลากจะยุติธรรมที่สุด

นอกจากนี้ต้องการให้มีการจัดสรรเงินส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า 25 สตางค์ต่อหน่วย โดยให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้จัดเก็บไว้ และนำไปใช้ลดค่าไฟฟ้าให้ชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้าชุมชน แทนการให้ผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนไปตกลงจำนวนเงินกันเอง เพราะสุดท้ายผลประโยชน์จะตกถึงแค่วิสาหกิจชุมชน 200 ครัวเรือน แต่ไม่ถึงชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้าทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยที่กระทรวงพลังงานจะเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนขนาด 150 เมกะวัตต์ และได้บรรจุในแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ให้มีโรงไฟฟ้าชุมชน 1,933 เมกะวัตต์ แต่ให้เริ่มนำร่องในปริมาณไม่มากก่อน โดยหากนำร่อง 150 เมกะวัตต์จะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้รวม 10,300 ล้านบาท แต่หากนำร่องได้เพียง 100 เมกะวัตต์ ถือว่าน้อยเกินไป และไม่ควรปรับลดปริมาณรับซื้อรวมที่ 1,933 เมกะวัตต์ เนื่องจากเป็นปริมาณที่ดึงมาจากพลังงานหมุนเวียนชนิดอื่นในแผน PDP2018 ฉบับเก่า จึงไม่มีเหตุผลที่จะไปปรับลดสัดส่วนดังกล่าวลง

นายทวี จงควินิต รองประธานด้านพลังงานขยะ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ฉบับล่าสุดได้กำหนดให้มีโรงไฟฟ้าขยะชุมชนเพิ่มอีก 400 เมกะวัตต์ จากเดิมกำหนดไว้ 500 เมกะวัตต์ รวมเป็นปริมาณรับซื้อไฟฟ้าขยะชุมชนรวม 900 เมกะวัตต์นั้น เห็นว่ายังเป็นปริมาณที่ไม่ครอบคลุมปริมาณขยะที่มีอยู่ เนื่องจากสามารถลดขยะได้เพียง 14 ล้านตัน ขณะที่ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นใหม่มีถึง 28 ล้านตันต่อปี หรือ 70 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ดังนั้นจึงขอให้กระทรวงพลังงานพิจารณาเพิ่มโควต้าโรงไฟฟ้าขยะชุมชนให้มากขึ้นโดยบรรจุในแผน PDP ฉบับปรับปรุงใหม่ที่จะต้องจัดทำขึ้นทุกๆ 2 ปี

นอกจากนี้ ทาง ส.อ.ท. เตรียมยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในเร็วๆนี้ ให้พิจารณาขยายระยะเวลาสัญญารับซื้อไฟฟ้า (PPA) โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff สำหรับโครงการกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(Quick Win Projects) จำนวน 11 โครงการ ปริมาณ 84 เมกะวัตต์ ออกไปอีก 2 ปี เพราะขณะนี้ เหลือระยะเวลาขายไฟฟ้าเข้าระบบตามสัญญาแค่ 18 ปี เพราะพ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ เพิ่งจะมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2560 ทำให้ผู้ประกอบการเสียเวลาไป 2 ปี แต่การลงทุนโรงไฟฟ้าได้คำนวนผลตอบแทนการลงทุน(IRR) ครอบคลุมอยู่ที่ 20 ปี รวมทั้งจะขอให้ขยายเวลาผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ(SCOD) จากปี 2564 ไปอีก 1-2 ปีด้วย

ที่มา/https://www.energynewscenter.com/%e0%b8%9e%e0%b8%9e-%e0%b8%8a%e0%b8%87%e0%b9%80%e0%b8%aa%e0%b8%99%e0%b8%ad%e0%b8%ab%e0%b8%a5%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b8%93%e0%b8%91%e0%b9%8c%e0%b9%83%e0%b8%ab%e0%b9%89%e0%b8%84%e0%b8%93/

Loading