ชาวขอนแก่นเห็นด้วย แผนโรดแมป ปลดล็อคโควิด-19 ให้เป็นโรคประจำถิ่น หลังทุกอย่างเริ่มลงตัว และต้องเร่งกระตุ้นภาพรวมทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ในภาวะของแพงและภาวะสงครมที่ส่งผลกระทบถ้วนหน้า
เมื่อเวลา13.30 น.วันที่ 10 มี.ค.2565 ผู้สื่อข่าวรายงาน่วาภายหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศแผนการปลดล็อคให้การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้เป็นโรคประจำถิ่น โดยมีผลตามลำดับขั้นตอนตั้งแต่เดือน มี.ค.เป็นต้นไปและมีผลชัดเจนทั้งระบบตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.ที่จะถึงนี้ ซึ่งแผนการดำเนินงานดังกล่าวที่กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศออกมานั้นได้รับความสนใจจากชาวขอนแก่นถึงแนวทางการดำเนินงานดังกล่าวอย่างมาก ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
น.ส. อารยานี เนียมประดิษฐ์ ผู้จัดการตลาดบางลำภู กล่าวว่า ขณะนี้สมควรแก่เวลาเพราะการที่รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารสุข ได้ประกาศปรับแบบการดำเนินงานจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีแผนการรองรับแบบค่อยเป็นค่อยไป จนกระทั่งเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าทุกคนน่าจะเตรียมตัวกันพอสมควรแล้ว และเห็นด้วยกับกำหนดระยะเวลาการเตรียมตัวของทางภาครัฐที่นำเสนอออกมา ซึ่งประเทศไทยได้เปรียบตรงที่เป็นเมืองร้อน เมืองร้อนน่าจะปลอดภัยกว่าถ้าปลดได้ก่อนเข้าสู่ฤดูร้อนจะดีมาก เพราะการเข้าสู่โรคประจำถิ่นไม่ได้แปลว่าจะละเลยมาตรการทุกอย่าง แต่มาตรการทุกอย่างจะยังต้องคงทำอยู่และแผนงานที่กำหนดมานี้นั้นมีตัวชี้วัดอยู่ที่จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงขนาดไหน ผู้ป่วยที่นอนเตียงต้องลดลงขนาดไหน การรักษาหายกี่เปอร์เซ็นต์ถึงจะปลดล็อคเป็นความร่วมมือกันของประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ร่วมมือกัน
” ถ้าถึงจุดนั้น ก็จะประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่นได้ ซึ่งมั่นใจในระบบสาธารณสุขที่จะรักษาผู้ป่วยได้ มียาเพียงพอที่จะรักษาทุกคนได้ แต่ดีที่สุดคือการไม่ป่วย ส่วนจำนวนคนที่ป่วยเยอะ และผู้เสียชีวิตเยอะ นั้นโดยส่วนตัวไม่กังวลเพราะขณะนี้สายพันธุ์โอไมครอน ติดง่ายทำให้ทุกคนต้องใช้ชีวิตให้ระวังมากกว่านี้ อีกทั้งขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจกำลังแย่มาก ประกอบกับมาเจอกับภาวะสงคราม ค่าแรงขึ้นไม่ได้ยังเท่าเดิม เหมือนว่าข้าวของแพงค่าแรงถูก และเศรษฐกิจไม่เดินหน้า จำเป็นต้องให้ทุกคนร่วมใจกัน ร่วมด้วยช่วยกันให้สู่เป้าหมาย จนเป็นการปลดล็อคไปเป็นโรคประจำถิ่นให้ได้ ซึ่งหลังจากที่ปลดล็อคเป็นโรคประจำถิ่นแล้วไม่กลัวเรื่องรักษาพยาบาลแต่ให้ทุกคนช่วยกันอยู่ในมาตรการแบบที่เคยทำมาแบบนี้ตลอดให้ทุกหน่วยงานเข้มแข็งแบบนี้ต่อไปเราต้องชนะได้แน่นอน”
ขณะที่ นายพงพิพัฒน์ โคตรบุดดี อายุ 30 ปี ชาวขอนแก่น กล่าวว่า การเปลี่ยนโรคโควิด-19 ให้เป็นโรคประจำถิ่น นั้นโดยส่วนตัว คิดว่ายังไม่เหมาะเพราะยังมีความเสี่ยงและคนเสียชีวิตยังเยอะอยู่ ดังนั้นมาตรการที่รัฐจะกำหนดออกมาจะต้องให้ชัดเจนกว่านี้ โดยระยะเวลาของมาตรการต้องขึ้นอยู่กับจำนวนของผู้ป่วยติดเชื้อและคนเสียชีวิต ถ้ายังมีแบบนี้อยู่คิดว่ายังไม่เหมาะกับการที่จะปรับมาเป็นโรคประจำถิ่น
“สำหรับผมไม่กลัวแต่ต้องมองกับคนแก่และเด็กเพราะมีความเสี่ยงสูงโอกาศติดสูง ถ้าปรับเป็นโรคประจำถิ่นจริงๆก็ไม่ต้องปรับตัวอะไรเพราะมาตรการคลายล็อคดาวน์ใช้ชีวิตง่ายขึ้นแต่ก็เสี่ยงต่อการติดง่ายขึ้นเหมือนกัน ขณะที่การรักษาค่อนข้างจะกังวลเพราะคนติดเยอะขึ้นและง่ายขึ้น ถ้าปลดล็อคแล้วการรักษาพยาบาล ทีมแพทย์ พยาบาลก็จะต้องกำหนดแนวทางที่ชัดเจน และให้ประชาชนเข้าถึงระบบการบริการทางการแพทย์ได้โดยง่ายก็จะทำให้ทุกฝ่ายคลายความกังวลมากขึ้น”
ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว-0628929797 >