เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 28 เม.ย. 2565 ที่โรงแรมพลูแมนขอนแก่น ราชาออคิด บริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง(เคเคทีที) จำกัด ร่วมกับภาคีเครือข่าย 10 หน่วยงาน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนขอนแก่นสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ มุ่งสู่ UNESCO ภายใต้การสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โดยมีคณะผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย อบจ.ขอนแก่น , เทศบาลนครขอนแก่น , สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 6 ขอนแก่น ,สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น , สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จังหวัดขอนแก่น , สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดขอนแก่น , มูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้า , มูลนิธิเพื่อการศึกษาจังหวัดขอนแก่นครบ 200 ปี พ.ศ.2540 ,มหาวิทยาลัยขอแก่น และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น เพื่อสร้างเจตจำนงและความมุ่งมั่น ในการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ระหว่างภาคีเครือข่าย และร่วมกันกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ การมีส่วนร่วม การติดตามผล เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมีคณะทำงานจากทุกฝ่ายร่วมเป็นสักขีพยาน
นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวว่า เครือข่ายทั้งหมดในวันนี้จะร่วมมือกันเพื่อมุ่งสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ ซึ่งต่อจากนี้ไปทุกหน่วยงานไม่ว่าจะมีภารกิจหน้าที่ใดสิ่งที่ต้องร่วมมือกันทำก็คือมุ่งปลูกฝังบุคลิกใฝ่เรียนรู้ มุ่งสร้างความเท่าเทียมลดความเลื่อมล้ำที่หลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ เรื่องการศึกษา เรื่องเศรษฐกิจ เนื่องสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการที่จังหวัดขอนแก่นจะมุ่งสู่การเป็นเมืองแห่งโอกาส ซึ่จะเกิดขึ้นได้เมื่อประชาชนมีความพร้อม และเมืองแห่งการเรียนรู้จะเป็นโอกาสของคนขอนแก่นที่เราจะสามารถเติบโตและก้าวไปด้วยกันได้โดยไม่มีใครโดนทอดทิ้งไว้ข้างหลัง
” รวมถึงส่งเสริมให้ทุกคนเป็นผู้สร้างโอกาสทางการเรียนรู้ ส่งเสริมการลงทุนระหว่างภาคีเครือข่ายเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต และใช้ทรัพยากร อย่างมีประสิทธิภาพในการจัดการเรียนรู้ ตลอดจนพัฒนาศักยภาพของบุคคลและส่งเสริมความร่วมมือทางสังคม ส่งเสริมการรู้หนังสือและทักษะพื้นฐานแก่พลเมือง ให้พลเมืองมีส่วนร่วมในพื้นที่สาธารณะของเมือง ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ สร้างความปลอดภัย ความสามัคคี และความครอบคลุมในชุมชนพัฒนาเศรษฐกิจและวัฒนธรรมให้จังหวัดขอนแก่นก้าวสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ (Leaning City) ที่ภูมิปัญญาของคนในพื้นที่ถูกนำมาใช้ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน และเกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม เรื่องเมืองแห่งการเรียนรู้ ยูเนสโก้ มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เมืองแห่งการเรียนรู้เป็นหนึ่งในนั้นซึ่งมีความเป็นสากลของยูเนสโก้ ซึ่งจะเลือกเมืองบางเมืองจะทำเรื่องนี้และทางขอนแก่นกำลังจะร่วมมือเพื่อที่จะนำเสนอยูเนสโก้ให้ประกาศเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ หลังจากนั้นจะเกิดเรื่องการพัฒนาระบบการศึกษา เศรษฐกิจ สังคมสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้จะเติบโตไปด้วยกัน”