วันพฤหัสบดี, 28 พฤศจิกายน 2567

เคาะกรอบใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาทอัดฉีดก้อนแรก ก.ค. เน้นเกษตรแปรรูป-ท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ

เมื่อวันที่ 12 พ.ค. นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติกรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ภายใต้กรอบวงเงินกู้ 4 แสนล้านบาท โดยเน้นสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น จากเดิมที่เราให้ความสำคัญเรื่องของการส่งออกและการท่องเที่ยว

“เราจะใช้เงินก้อนนี้ ทำให้เกิดเกษตรสมัยใหม่ และเน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ รักษาธรรมชาติ อีกจุดหนึ่งที่สำคัญคือให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานราก เรามองว่าแรงงานส่วนหนึ่งจะกลับภูมิลำเนา จึงจำเป็นต้องมีการสร้างงานรองรับในพื้นที่ ซึ่งต้องใช้เงินกู้ส่วนนี้สร้างเศรษฐกิจชุมชุน เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มวิสาหกิจเพื่อชุมชนต่อไป” นายทศพร กล่าว

สำหรับหลักเกณฑ์และกรอบการใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาทนั้น นายทศพร กล่าวว่า รัฐบาลจะพยายามมุ่งไปที่การสร้างงาน การสร้างรายได้ให้กับประชาชน โดยเน้น 2 เรื่องหลัก คือ 1.สร้างความเข้มแข็งให้กับอนาคตของประเทศ โดยเน้นสร้างความได้เปรียบเกี่ยวกับเกษตรแปรรูปและเรื่องอาหาร และ 2.สร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ และรักษาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ

นายทศพร กล่าวด้วยว่า หัวใจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ จะมุ่งเน้นเรื่องความยั่งยืน ไม่เน้นเชิงปริมาณ และไม่เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วเหมือนในอดีต แต่จะเน้นความมั่นคงยั่งยืนของประเทศทำให้ทุกคนสามารถยืนได้ด้วยความมั่นคง เพราะเรามองภาพชีวิตวิถีใหม่ หรือ new normal ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก เราต้องทำให้เศรษฐกิจไทยยืนอยู่ได้ในอนาคต 

“ที่อยากเน้นย้ำ คือ กรอบเงินกู้ 4 แสนล้านบาท ไม่จำเป็นต้องใช้ทั้งหมด เราจะเลือกเฉพาะโครงการสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ สำคัญที่สุดคือการใช้จ่ายเงินต้องเน้นความโปร่งใส ตรวจสอบได้ในระบบออนไลน์ ข้อมูลต่างๆจะลงไว้ในเว็บไซต์ มีผู้ตรวจราชการ มีผู้ตรวจภาคประชาชน นิสิต นักศึกษา ช่วยกันทำงานในพื้นที่ และร่วมกันเป็นหูเป็นตา ดูแลให้เกิดความโปร่งใส ดังนั้น เราอยากให้ทุกคนเห็นโฉมใหม่ของการพัฒนาประเทศ และอยากให้ทุกภาคส่วนจะเข้าไปมีส่วนร่วม เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของไทยให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน” นายทศพร กล่าว

นายทศพร ย้ำว่า การใช้เงินกู้จึงต้องคุยกันว่าจะต้องเป็นหัวเชื้อในการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทิศทางของการพัฒนาประเทศ โดยคาดว่าเงินกู้จะเริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจภายในเดือน ก.ค.นี้ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องไปถึงงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564-2565 เป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป และเงินกู้จะรองรับสถานการณ์ภัยแล้งต่างๆเกิดขึ้นได้อีกด้วย เพราะจะมีงบประมาณลงไปที่ภาคการเกษตร ซึ่งจะช่วยพัฒนาแหล่งน้ำในชุมชน

ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวว่า วงเงินส่วนนี้จะถูกนำไปสร้างแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจ เพื่อทำให้สถานการณ์ที่แย่อยู่ในเวลานี้กลับมาฟื้นตัวได้บ้าง จากนั้นจะต้องใช้งบประมาณประจำปี 2564-2565 เป็นแรงหนุนส่งให้เศรษฐกิจให้ดีขึ้นในช่วง 2 ปีหลังจากนี้

ด้านน.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน)

สำหรับร่างกระทรวงดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ ให้ขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล มีเงินได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ออกไปอีก 3 ปี สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จากเดิมที่กฎกระทรวง ฉบับที่ 330 (พ.ศ.2560) สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2562

น.ส.รัชดา ระบุว่า มาตรการภาษีดังกล่าวจะไม่ส่งผลให้รัฐสูญเสียรายได้ เนื่องจากปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้อยู่แล้ว แต่หากกำหนดให้จัดเก็บภาษีเงินได้ของวิสาหกิจชุมชน จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 15 ล้านบาท

นอกจากนี้ การขยายเวลาการยกเว้นภาษีจะเป็นประโยชน์ทั้งในเรื่อง 1.บรรเทาภาระภาษีให้วิสาหกิจชุมชนอย่างต่อเนื่อง 2.เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากของประเทศและสามารพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าและบริการของชุมชนให้เติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในอนาคต และ3.สนับสนุนวิสาหกิจชุมชนรวมตัวประกอบกิจการเพื่อสร้างรายได้และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

Loading