ผู้ว่าฯคนใหม่ลั่นเป็นไปได้เอาวิธีจัดงานไหมแบบดังเดิมสั่งทุกอำเภอสร้างซุ้มกิจกรรมโชว์ของดีของเด่นใช้พื้นที่หน้าศาลากลางทำประโยชน์ให้ชาวบ้าน ให้เด็กได้เรียนรู้บ้านเรือนสมัยก่อน อยู่แบบไหนให้ทุกอำเภอได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอของดีแต่ละชุมชน ในอนาคตจะทำเป็นถนนคนเดินให้ชาวบ้านมาขายผลผลิต งานไหมขอนแก่น 29 พฤศจิกายน – 10 ธันวาคม 2565 ณ สนามหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น
เมื่อเร็วๆนี้ นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ได้ออกมาเปิดเผยกับสื่อมวลชนเกี่ยวกับการ จัดงานเทศกาลไหมนานาชาติ ประเพณีผูกเสี่ยว และงานกาชาดจังหวัดขอนแก่น ปี 2565 ในปีนี้ว่า
นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่าขอนแก่น ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหัตถกรรมโลกแห่งผ้ามัดหมี่ และ “แคนแก่นคูน” คือ ลายผ้าไหมประจำจังหวัดที่แสดงอัตลักษณ์เมืองขอนแก่นผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมัดหมี่ของจังหวัดขอนแก่นนั้นได้รับการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 จังหวัดขอนแก่น ได้รับการรับรองจากสภาหัตถกรรมโลก World Craft Council (WCC)-UNESCO ให้เป็น “เมืองหัตถกรรมโลกแห่งผ้ามัดหมี่“
อีกหนึ่งประเพณีเก่าแก่คือ ประเพณีผูกเสี่ยว เป็นประเพณีดั้งเดิมของกลุ่มวัฒนธรรมไท–ลาว โดยคำว่า “เสี่ยว“นั้น ในภาษาอีสานมีความหมายว่า “เพื่อนรัก หรือ เพื่อนตาย” ซึ่งการผูกเสี่ยว คือ การสัญญาที่จะเป็นเพื่อนรักร่วมเป็นร่วมตายกัน โดยใช้ฝ้ายมงคลผูกข้อมือของแต่ละคนเพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่ทั้งคู่เพื่อการสืบสานอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของจังหวัดขอนแก่นและภาคอีสาน จังหวัดขอนแก่นจึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน นำเอาประเพณีผูกเสี่ยวและงานไหมมาจัดร่วมกันจนเกิดเป็น “งานเทศกาลไหมนานาชาติ ประเพณีผูกเสี่ยว และงานกาชาดจังหวัดขอนแก่น ประจำปี 2565” ซึ่งงานนี้ได้จัดมาเป็นเวลานานกว่า 44 ปีแล้ว
นายไกรสร เล่าถึงการจัดงานไหมฯปีนี้ว่า การจัดงานไหมฯปีนี้งดเฉพาะคอนเสิร์ต แต่ไม่ได้งดหมอลำ ส่วนหมอลำก็จะมีคณะระเบียบวาทะศิลป์อยู่ เพราะงานไหมฯ ตนมองว่ามันไม่เหมือนสมัยที่ตนเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยอยู่ ตอนนั้นเด็กๆมาเที่ยวงานไหม หรือมาทำรายงาน และส่วนราชการก็จะมาจัดนิทรรศการออกบูธ หรืออะไรต่างๆ แต่ตอนนี้งานไหมฯมีแต่ถอยหลังลงเรื่อยๆ เหมือนกับงานวัด มีการเอาของมาขาย คนที่มาขายของก็เป็นคนที่อื่นทั้งนั้น แล้วก็เอาเงินกลับไป ตนจึงมองว่า มันน่าจะเบาลงได้แล้ว น่าจะเน้นด้านวัฒนธรรม เรื่อง Soft Power ให้กับจังหวัดขอนแก่นเรา ตนเลยสั่งให้ทุกอำเภอทำหมู่บ้านจำลองขึ้นมา อำเภอละ 1 หลัง แบบย้อนยุค 26 หลัง อยู่ตรงกลางลานวัฒนธรรม
นายไกรสร กล่าวอีกว่าส่วนหมอลำก็จะมีอยู่ 1 วันคือคณะระเบียบวาทะศิลป์ ต้องยอมรับว่าคณะนี้เป็นคนขอนแก่น ถึงหน้าเทศกาลงานไหมก็น่าจะให้เขามีรายได้มั่ง ส่วนสำหรับวงอื่นๆตนได้สอบถามไปแล้วแต่คิววงเขาแน่นมาก อันนี้ก็ไม่เป็นไรเราก็พยายามสร้าง ร้านวัฒนธรรมเพื่อจะหยิบยกวัฒนธรรม เช่นหมอลำ หมอลำพื้นบ้านสมัยแต่ก่อน ซึ่งเป็นของที่ดี แต่ก่อนหมอลำเวลาเราไปฟัง หมอลำมันก็เกิดปัญญา เพราะแต่ก่อนหมอลำมีความรู้มาก เผลอๆ เก่งกว่าพระเทศน์มาก พอมาสมัยนี้ไปฟังแล้วไม่ค่อยเกิดปัญญาเท่าไหร่ อันนี้ก็อยากอนุรักษ์ไว้
นายไกรสร กล่าวด้วยว่าตนมองว่ายังมีอีกหลายเรื่อง อย่างผ้าไหมก็เป็นเรื่องของ soft Power ของเราที่จะโชว์ในงาน สรุปงานไหมปีนี้ตนจะเน้นเรื่อง ของวัฒนธรรม และเรื่อง Soft Power เรื่องวัฒนธรรมนี้ตนมองว่ามันขายได้มันกินได้ และเป็นสิ่งที่จะโชว์ให้เห็นว่าขอนแก่นเรามีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มี Soft Powerถึงจะ Soft แต่พลังที่จะขับเคลื่อนค่อนข้างรุนแรง ต่อแรงในด้านสังคมอย่างเยอะ ก็เป็นอีกเรื่องนึงที่ตนมองว่าเป็นจุดแข็ง ของจังหวัดขอนแก่นที่จะต่อยอด พัฒนาไปอีก
ต่อคำถามสื่อมวลชน ที่ถามว่า ส่วนสินค้าที่มาจากโรงงานจะการออกบูธจะมีอยู่ไหม ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ตอบว่า “บางส่วนก็ต้องมี เพราะมองดูว่าการจัดงานของจังหวัด ซึ่งไม่มีงบประมาณ ในการจัดงาน ต้องอาศัยสปอนเซอร์จากพวกนี้ โดยหลักถ้าจะโชว์หมู่บ้านอย่างเดียวไม่ใช่ ตนจะให้นายอำเภอทุกอำเภอเอา ชาวบ้านในแต่ละอำเภอ มีของดีอะไรเอามาขาย พูดง่ายๆเอาของมาขายกันโดยไม่มีค่าใช้จ่ายและในอนาคต ถ้าตรงนี้ญาติพี่น้องไม่โอเค เห็นว่ามันรกรุงรังควรจะให้ย้ายรื้อก็ไม่ขัดข้อง แต่ถ้ามองว่ามันอาจจะเป็นจุดเช็คอินแห่งใหม่ ของจังหวัดขอนแก่น ไม่ต้องไปไกลเวลานักท่องเที่ยว เดินทางหรือมาทำธุระ หรือว่าพัก และอยากมาเดินเล่นใน ตอนเย็นๆหรือตอนวันเสาร์ อาทิตย์ ตนมองว่า เป็นอีกช่องทางหนึ่ง ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ของจังหวัดเราเป็นจุดเช็คอินแห่งใหม่ และสิ่งที่พูดนี้ ไม่ได้ใช้งบประมาณของทางราชการ แต่คิดว่าอย่างไรก็ทำได้”
ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว/สนใจลงโฆษณาติดต่อ นิตยา สุวรรณสิทธิ์ -0628929797 >