คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 0.50% ล่าสุดธนาคารพาณิชย์ทยอยปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ทั้ง 3 ประเภท โดยธนาคารกรุงเทพนำร่องปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็นรายแรก ตามมาด้วยธนาคารพาณิชย์อีก 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกสิกรไทย
นายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ 3 ประเภท ลงเหลือต่ำสุด 5.25% โดยเอ็มแอลอาร์ (MLR) หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา เหลือ 5.25% เอ็มโออาร์ (MOR) หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี เหลือ 5.875% และเอ็มอาร์อาร์ (MRR) หรืออัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี เหลือ 5.75% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.2563 เป็นต้นไป
“ธนาคารมุ่งมั่นที่จะประคับประคองให้ลูกค้า ผู้ประกอบการและประชาชน ให้สามารถผ่านช่วงวิกฤตินี้ไปได้ อีกทั้งยังเป็นการช่วยกระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยภาพรวมในช่วงที่มีความเปราะบาง ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ โดยที่ผ่านมาธนาคารฯให้ความช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการให้มีเงินทุนและสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจและรักษาการจ้างงาน และช่วยเหลือประชาชนในการลดภาระทางการเงิน โดยเฉพาะการสนับสนุนมาตรการของภาครัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)” นายสุวรรณกล่าว
นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารกรุงศรีฯพร้อมสนับสนุนนโยบายทางการเงินของภาครัฐผ่านกลไกการทำงานของธนาคาร เพื่อลดผลกระทบต่อกิจกรรมทางธุรกิจและภาระต้นทุนดอกเบี้ยของลูกค้าอันเนื่องมาจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และปัจจัยลบที่ตามมา
ดังนั้น กรุงศรีฯจึงปรับลดอัตราดอกเบี้ย MLR, MOR และ MRR ลงอีก หลังจากที่ได้ปรับลดดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อไปแล้ว 3 ครั้ง ในวันที่ 8 ก.พ. ,24 มี.ค. และ 10 เม.ย.2563 นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19
สำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ ส่งผลให้เงินให้สินเชื่อของกรุงศรีมีอัตราดอกเบี้ยดังต่อไปนี้ 1.อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบระยะเวลา (MLR) ปรับลดลงจาก 5.83% เป็น 5.58% 2.อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ปรับลดลงจาก 6.30% เป็น 5.95% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ปรับลดลงจาก 6.30% เป็น 6.05% ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยใหม่ดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.2563 เป็นต้นไป
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า จากมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มทยอยเข้าสู่ช่วงสภาวะปกติ เพื่อเร่งการฟื้นตัวของฐานะการเงินในภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนให้กลับมาโดยเร็ว ธนาคารฯจึงได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบภาระต้นทุนดอกเบี้ยของลูกค้าธนาคารฯ โดยเร่งด่วน นับเป็นการลดดอกเบี้ยติดต่อกันต่อเนื่อง ซึ่งจะมีส่วนสนับสนุนสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด Covid-19
ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทแบบมีระยะเวลา หรือ MLR ปรับลดจาก 5.375% เป็น 5.25% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในระบบธนาคาร อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี หรือ MOR ปรับลดลงจาก 6.095 % เป็น 5.845% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี หรือ MRR ปรับลดลงจาก 6.345 % เป็น 5.995 % ซึ่งปรับลดลงมากที่สุดในระบบธนาคาร โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ใหม่นี้ จะมีผลตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2563 เป็นต้นไป
“ธนาคารฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การลดดอกเบี้ยดังกล่าวจะมีส่วนช่วยให้ลูกค้าธุรกิจและลูกค้าสินเชื่อรายย่อยมีต้นทุนทางการเงินที่ลดลง และช่วยให้ลูกค้าสามารถก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปได้ในที่สุด ทั้งนี้นอกจากมาตรการลดดอกเบี้ยแล้ว ธนาคารฯ ยังสนับสนุนแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ และการให้สภาพคล่องเพิ่มเติมผ่านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบอีกด้วย” นายอาทิตย์กล่าว
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ธนาคารพร้อมสนับสนุนภาครัฐในการเร่งกิจกรรมและกิจการทางเศรษฐกิจ ตลอดจนลดต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการและประชาชนทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ลง 0.125% ต่อปี เหลือ 5.25% ต่อปี MOR ลดลง 0.40% ต่อปี เหลือ 5.82% ต่อปี และ MRR ลดลง 0.125% ต่อปี เหลือ 6.22% ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2563 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยลดภาระต้นทุนทางการเงิน นอกเหนือ จาก 5 มาตรการเยียวยาที่ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยและลูกค้าธุรกิจจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ การพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย การสนับสนุน Soft Loan ในการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ ทั้งนี้ เพื่อดูแลลูกค้าของธนาคารให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ รวมทั้งลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยพร้อมเดินหน้าช่วยเหลือลูกค้าธนาคารอย่างต่อเนื่อง ด้วยการตอบสนองการลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ถึงมือลูกค้าทุกกลุ่มทันที โดยธนาคารปรับลดอัตราดอกเบี้ย MOR ลงสูงสุดถึง 0.38% ทำให้อัตราดอกเบี้ย MOR คงเหลือเพียง 5.84% อีกทั้งธนาคารยังได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR และ MRR ลงอีก 0.13% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยคงเหลือ 5.47% และ 5.97% ตามลำดับ
“เพื่อเป็นการเน้นย้ำถึงความตั้งใจของธนาคารในการช่วยประคับประคองสภาพคล่องและลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้าของธนาคาร โดยเฉพาะลูกค้าบุคคลและลูกค้าผู้ประกอบการ เพิ่มเติมจากมาตรการต่างๆ ที่ได้ออกมาก่อนหน้า ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศให้ค่อยๆ ฟื้นตัวและเดินหน้าไปได้ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2563 เป็นต้นไป” นายปรีดีกล่าว