นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน ติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานอย่างใกล้ชิดทั้งน้ำมันและไฟฟ้า เพื่อดูแลภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน โดยในส่วนของค่าไฟฟ้า ได้พิจารณาไปถึงต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติ ที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าสัดส่วน 50-60% ซึ่งปัจจุบับ พบว่า ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)ในรูปแบบตลาดจร(Spot) มีต้นทุนต่ำมากและต่ำกว่าต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากอ่าวไทย
โดยในช่วงที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT ศึกษาการนำเข้าแอลเอ็นจี Spot เพื่อนำมาถัวเฉลี่ยต้นทุนราคาก๊าซในประเทศให้ถูกลง และล่าสุด ได้รับรายงานว่า ปตท.ได้เริ่มการนำเข้าแอลเอ็นจีแล้ว ซึ่งก็เป็นอีกแนวทางที่จะช่วยให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าในอนาคตลดต่ำลง
ส่วนก๊าซฯในอ่าวไทย ที่มีคุณสมบัติเป็นก๊าซเปียกคุณภาพดี ได้มอบหมายให้ ปตท.วางแนวทางบริหารจัดการ เพื่อให้สามารถใช้ได้ในระยะยาวสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ และยังช่วยให้เกิดการจ้างงานในภาพรวมด้วย
ขณะที่ ปตท. ได้ทำแผนเตรียมนำเข้าแอลเอ็นจี สัญญาตลาดจร เสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)แล้ว รวมถึง ได้เจรจาลดการซื้อก๊าซฯจากแหล่งในอ่าวไทยและเมียนมาร์ ตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน เพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในช่วงนี้
โดย ปตท. เตรียมนำเข้าแอลเอ็นจี รูปแบบตลาดจร 4 ลำ ลำละ 6 หมื่นตันในปีนี้ โดยเริ่มนำเข้า มาแล้ว 1 ลำ และอีก 3 ลำ จะนำเข้าช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย. นี้ ราคาอยู่ที่ประมาณ 3 ดอลลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่งถือว่าถูกกว่าราคาก๊าซฯในอ่าวไทยและการซื้อก๊าซฯจากเมียนมาร์ในปัจจุบัน
ด้านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)แบบตลาดจรเช่นกัน มีการนำเข้ามาเมื่อวันที่ 21 เม.ย ที่ผ่านมา จำนวน65,000ตัน ลำเรือที่2จาก บริษัท PETRONAS LNG ถึงท่าเทียบเรือ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัดอ.มาบตาพุด จ.ระยอง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งLNGล็อตนี้ กฟผ.จะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าผ่านสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติของPTT LNGและระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ปตท. (PTT TSO) ส่งไปยังโรงไฟฟ้าบางปะกง ,โรงไฟฟ้าวังน้อย และ โรงไฟฟ้าพระนครใต้ เพื่อผลิตไฟฟ้าเสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้าของประเทศ