AIS โชว์ศักยภาพบนเวทีโลก ยืนหนึ่งองค์กรไทยตัวแทนประเทศ คว้ารางวัล WSIS Prize 2023
โดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ และ UN สะท้อนการทำงานเชิงรุกเพื่อส่งเสริมทักษะดิจิทัล และขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาภัยไซเบอร์อย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการ AIS “อุ่นใจ CYBER”
AIS พาโครงการ “อุ่นใจ CYBER” เป็นตัวแทนประเทศในฐานะองค์กรไทยหนึ่งเดียว คว้ารางวัลด้านความยั่งยืนระดับโลก พร้อมติดอันดับ 1 ใน 5 จาก 1,800 โครงการทั่วโลก ในเวที WSIS Prize 2023 กับรางวัล Champion of WSIS Prize 2023 ในสาขาโครงการที่นำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยในการใช้งานอินเทอร์เน็ต (Building confidence and security in use of ICTs) ที่จัดขึ้นโดย สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) และองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) นับเป็นอีกหนึ่งรางวัลที่สะท้อนให้เห็นถึงการทำงานเชิงรุกในการแก้ไขปัญหาภัยไซเบอร์อย่างยั่งยืน โดยที่ผ่านมา AIS มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการนำศักยภาพโครงข่ายดิจิทัลมาพัฒนาเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมและสร้างทักษะดิจิทัลให้คนไทยรู้เท่าทัน พร้อมอยู่กับโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ผ่านโครงการ AIS “อุ่นใจ CYBER”
นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า “พวกเราชาว AIS ต้องขอขอบคุณ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ และองค์การสหประชาชาติ หรือ UN ที่มองเห็นถึงความตั้งใจของ AIS และได้ยกให้ โครงการอุ่นใจ CYBER เป็นหนึ่งใน 5 จาก 1,800 โครงการด้านความยั่งยืนจากทั่วโลก และได้รับรางวัลระดับ Champion of WSIS Prize 2023 ในสาขา Building confidence and security in use of ICTs หรือ โครงการที่นำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยต่อการใช้งานอินเทอร์เน็ต
โดยเราเริ่มต้นโครงการ AIS อุ่นใจ CYBER มาตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงที่การใช้งานอินเตอร์เน็ตและสื่อออนไลน์กำลังมีอัตราการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น เริ่มมีปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นจากการใช้งานในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเราเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายรายแรกๆ ที่ลุกขึ้นมาเป็นแกนกลางของสังคมในการสร้างเครือข่าย ผ่านการใช้พลังของพาร์ทเนอร์เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ปัญหาภัยไซเบอร์อย่างยั่งยืน และส่งเสริมสังคมการใช้งานดิจิทัลเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์ ปลอดภัยและมีประโยชน์ต่อคนไทย”
นางสุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์ เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ ณ นครเจนีวา ได้กล่าวแสดงความยินดีกับ AIS ที่ได้รับรางวัล Champion of WSIS Prize 2023 จากโครงการ อุ่นใจ CYBER ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยว่า “โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ที่สอดคล้องกับนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ของประเทศที่ต้องการยกระดับความรู้ด้านดิจิทัลแก่คนไทย ช่วยปกป้องคนไทยจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ พร้อมส่งเสริมสังคมออนไลน์ที่ปลอดภัย และสร้างภูมิคุ้มกันภัยทางด้านดิจิทัล รวมทั้งยังตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ เป้าหมายที่ 4 การสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต”
นางสายชล กล่าวเสริมว่า “โครงการ AIS อุ่นใจ CYBER ถูกคิดและดำเนินการขึ้นจากกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ UN กำหนดออกมาเป็น Sustainable Development Goals หรือ SDGs ตามหัวข้อที่ 4 สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Quality Education) โดยมีความสอดคล้องไปกับแผนกลยุทธ์ด้านการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ในเรื่องของการสนับสนุนให้เกิดการใช้งานดิจิทัลอย่างมีความรับผิดชอบและเสริมสร้างความเป็นพลเมืองดิจิทัลให้กับคนไทย ซึ่งวันนี้โครงการอุ่นใจ CYBER ได้ถูกขยายผลออกไปในรูปแบบต่างๆ จนกลายเป็นศูนย์กลางในการสร้างความปลอดภัยด้านการใช้งานอินเทอร์เน็ต
อย่างการจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ออนไลน์เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ครั้งแรกของไทย ที่ได้รับรองจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นไปตามมาตรฐานของหลักสูตรการศึกษาไทย ซึ่งที่เป็นการผนึกกำลังร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ก็ได้ถูกยกระดับให้เนื้อหาขยายผลไปยังนักเรียนที่ศึกษาอยู่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ทั้ง 29,000 โรงเรียนทั่วประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”
“หลังจากที่ก่อนหน้านี้โครงการของ AIS ไม่ว่าจะเป็น อสม. ออนไลน์, คนเก่งหัวใจแกร่ง และโครงการเทคโนโลยีเพื่อผู้พิการ “Work Wizard” ก็ตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืนจนสามารถคว้ารางวัลจาก WSIS Prize มาได้ และการได้รับรางวัล WSIS Prize 2023 ในครั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของพวกเราชาว AIS ด้วยการเป็นองค์กรไทยหนึ่งเดียวที่สามารถคว้ารางวัลระดับ Champion ได้สำเร็จ โดยเราขอยืนยันตามเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางบวกให้กับเกิดขึ้นสังคมดิจิทัลของไทยอย่างยั่งยืน” นางสายชล กล่าวทิ้งท้าย