วันพฤหัสบดี, 28 พฤศจิกายน 2567

โควิด-19 : สภาพัฒน์ฯ เผยไตรมาสแรกปี 63 มีคนว่างงานเกือบ 4 แสนคน

สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติออกรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่งปี 2563 ระบุอัตราการวางงานเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.03 มีผู้ว่างงานเกือบ 4 แสนคน และคาดว่าในปีนี้มีแรงงานที่เสี่ยงถูกเลิกจ้าง 8.4 ล้านคน ขณะที่เด็กจบใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน 5.2 แสนคนอาจไม่มีงานทำ

รายงานภาวะสังคมไทยซึ่งเผยแพร่ในวันนี้ (28 พ.ค.) ระบุว่าแม้อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ แต่การจ้างงานลดลงอย่างต่อเนื่องและค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง

สภาพัฒน์ฯ รายงานว่าระหว่างเดือน ม.ค.-มี.ค. ผู้มีงานทำมีจำนวน 37.4 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.7 เป็นผลมาจากการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมที่ลดลงเนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่มีความรุนแรงและต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปี 2562

ทั้งนี้ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อจำนวนการจ้างงานในภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวยังไม่ชัดเจนมากนัก ซึ่งสภาพัฒน์ฯ วิเคราะห์ว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะช่วงเดือน ม.ค.-ต้นเดือน มี.ค. การแพร่ระบาดยังจำกัดอยู่ในบางพื้นที่ และผู้ประกอบการยังรอดูสถานการณ์ของผลกระทบ

“อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณของผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ต่อการจ้างงานคือ ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยภาคเอกชนลดลงเท่ากับ 42.8 ชั่วโมง/สัปดาห์ จาก 43.5 ชั่วโมง/สัปดาห์ในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว” รายงานระบุ

นอกจากนี้ยังมีสถานประกอบการที่ขอหยุดกิจการชั่วคราว 570 แห่ง และมีแรงงานที่ต้องหยุดงานแต่ยังได้รับเงินเดือน 121,338 คน ผู้ว่างงานมีจำนวน 394,520 คน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.03 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.92 จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว และมีผู้ว่างงานแฝงจำนวน 448,050 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ผลกระทบของโควิด-19 ต่อแรงงาน

สภาพัฒน์ฯ ประเมินว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลให้แรงงานมีความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง 8.4 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงาน 3 กลุ่ม คือ

(1) แรงงานในภาคการท่องเที่ยวซึ่งมีประมาณ 3.9 ล้านคน (ไม่รวมสาขาการค้าส่งและการค้าปลีก) จะได้รับผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติและการท่องเที่ยวในประเทศ ประมาณ 2.5 ล้านคน

(2) แรงงานในภาคอุตสาหกรรมซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ระบาดและต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน จากการลดลงของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ แรงงานในภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด 5.9 ล้านคน คาดว่ามีผู้ได้รับผลกระทบ 1.5 ล้านคน

(3) การจ้างงานในภาคบริการอื่นที่ไม่ใช่การท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด เช่น การปิดสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งมีการจ้างงานจำนวน 10.3 ล้านคน คาดว่าจะมีแรงงานได้รับผลกระทบประมาณ 4.4 ล้านคน

เด็กจบใหม่ 5.2 แสนคน เสี่ยงตกงาน

สภาพัฒน์ฯ บอกว่าผลกระทบของภัยแล้งและโควิด-19 ต่อแรงงานจะเห็นผลชัดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยคาดว่าในปี 2563 อัตราการว่างงานจะอยู่ในช่วงร้อยละ 3-4 หรือตลอดทั้งปีมีผู้ว่างงานไม่เกิน 2 ล้านคน

สภาพัฒน์ฯ ยังเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการสร้างงานและจ้างงานเพื่อรองรับเด็กจบใหม่ 5.2 แสนคนที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานช่วงกลางปีนี้

“ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม คาดว่ามีแรงงานจบใหม่เข้าสู่ตลาดประมาณ 520,000 คน ซึ่งอาจไม่มีตำแหน่งงานรองรับ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีมาตรการสร้างงานและจ้างงานที่เพียงพอเพื่อรองรับผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะหางานทำไม่ได้” สภาพัฒน์ฯ ระบุในรายงาน

ไอแอลโอเป็นห่วง “เจเนอเรชันล็อกดาวน์”

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ระบุการระบาดของโควิด-19 อาจส่งผลกระทบต่อคนรุ่นใหม่ “ไปตลอดชีวิตการทำงาน” โดยการสำรวจล่าสุดพบว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา คนในช่วงอายุ 15-24 ปีถูกเลิกจ้างงานเป็นจำนวนมากในหลายประเทศทั่วโลกและเป็นกลุ่มประชากรที่ตกงานมากกว่าคนในวัยอื่น ๆ

รายงานผลกระทบของโควิด-19 ต่อสถานการณ์ด้านแรงงานฉบับล่าสุดของไอแอลโอ ซึ่งเผยแพร่เมื่อวานนี้ (27 พ.ค.) ระบุว่าก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ทั่วโลกมีคนรุ่นใหม่ที่อายุต่ำกว่า 25 ปีได้รับการจ้างงานอยู่ราว 178 ล้านคนทั่วโลก ส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่มีหลักประกันหากถูกเลิกจ้าง โดย 4 ใน 10 ของแรงงานในวัยนี้ทำงานอยู่ในกิจการ 4 ประเภทที่จัดว่าได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการระบาดของโควิด-19 ได้แก่ กิจการค้าส่ง-ค้าปลีก ซ่อมรถยนต์และมอเตอร์ไซค์, โรงงาน, อสังหาริมทรัพย์และการบริหารธุรกิจ, กิจการที่พักอาศัยและร้านอาหาร ไอแอลโอเรียกคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเรียนจบและกำลังเริ่มต้นการทำงานในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ว่า “คนรุ่นล็อกดาวน์” (lockdown generation) ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลและสนับสนุนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คนรุ่นนี้อาจกลายเป็น “รุ่นที่สาบสูญ” ไปจากตลาดแรงงานอย่างถาวร

ไอแอลโอ ซึ่งเป็นองค์กรภายใต้องค์การสหประชาชาติ จัดทำรายงานผลกระทบของโควิด-19 ต่อแรงงานทั่วโลกมาตั้งแต่เกิดการระบาด โดยฉบับล่าสุดซึ่งเป็นรายงานฉบับที่ 4 เน้นถึงผลกระทบต่อคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษาหรือเพิ่งเริ่มต้นชีวิตการทำงาน มีประเด็นที่สำคัญดังนี้

  • 1 ใน 4 ของแรงงานที่อายุต่ำกว่า 25 ปี ทำงานอยู่ในกิจการที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด-19 และส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ
  • กว่า 1 ใน 6 ของแรงงานที่เป็นคนรุ่นใหม่ถูกเลิกจ้างหลังจากมีการระบาดของโควิด-19
  • คนรุ่นใหม่ที่ยังมีงานทำอยู่ ถูกลดชั่วโมงการทำงานลงประมาณ 23 เปอร์เซ็นต์
  • แรงงานในสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำเพราะโควิด-19 มากที่สุด และถูกตัดชั่วโมงการทำงานมากที่สุด คือ ชั่วโมงการทำงานลดลง 13.1 เปอร์เซ็นต์ ส่วนในยุโรปและเอเชียลดลง 12.9 เปอร์เซ็นต์
  • ตั้งแต่เดือน ก.พ. เป็นต้นมา คนรุ่นใหม่ที่เป็นผู้หญิงได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างอย่างรุนแรงและรวดเร็วกว่าแรงงานกลุ่มอื่น ๆ
  • คนรุ่นใหม่ได้รับผลกระทบจากการปิดสถานศึกษา สถาบันฝึกอาชีพ การรับเด็กฝึกงาน และการฝึกอบรมพนักงานที่ลดจำนวนลงหรือเปลี่ยนมาเป็นการฝึกอบรมออนไลน์

ผลกระทบ 3 เด้ง

รายงานของไอแอลโอระบุว่า “ล็อกดาวน์เจเนอเรชัน” ได้รับผลกระทบจาก 3 เรื่องหลัก คือ

  • การถูกเลิกจ้าง
  • การเรียน การฝึกงานและการอบรมพัฒนาศักยภาพพนักงานที่หยุดชะงัก
  • ความยากในการสมัครงานหรือเปลี่ยนงาน

“การที่ความสามารถและความกระตือรือร้นของคนรุ่นใหม่ไม่ได้ถูกพัฒนาต่อยอดและถูกปล่อยให้เหือดหายไปในช่วงนี้จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยรวมในอนาคต และจะยิ่งทำให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกในยุคหลังโควิดยากขึ้นไปอีก” นายกาย ไรเดอร์ ผู้อำนวยการใหญ่ของไอแอลโอระบุ

นายไรเดอร์เป็นห่วงว่า เมื่อไม่ได้รับการพัฒนาศักยภาพหรือมีประสบการณ์ในการทำงาน คนกลุ่มนี้จะไม่มีโอกาสเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างถาวร กลายเป็น “แรงงานที่สาบสูญ” เขาย้ำว่าในขณะที่ทุกประเทศกำลังพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทุกฝ่ายจะต้องไม่ทิ้งคนกลุ่มนี้ไว้ข้างหลัง

ผู้อำนวยการใหญ่ไอแอลโอเรียกร้องให้รัฐบาลดูแลคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ด้วยนโยบายประกันการจ้างงาน จัดการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะอาชีพ ขณะที่ประเทศที่ร่ำรวยควรจะช่วยสนับสนุนด้านการเงินและการฝึกอบรมแรงงานให้ประเทศรายได้น้อยด้วย

ที่มา/BBC

Loading