ผู้ประกอบการกัญชาขอนแก่นวอนรัฐคุยกับผู้ประกอบการก่อน หากต้องนำกัญชากลับคืนเป็นยาเสพติดเพราะกระทบทั้งระบบแน่นนอน โดยเฉพาะเกษตรกรที่ลงทุนไปเยอะมาก
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 29 พ.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่พบกับผู้ประกอบการธุรกิจร้านกัญชา โดยเฉพาะที่ ร้าน “420 CARE” ซึ่งตั้งอยู่ที่ อาคารโอโซน วิลเลจ 238/8 ถ.เทพารักษ์ อ.เมือง จ.ขอนแก่น หลังพบว่าผู้ประกอบการมีความกังวลว่าหากนำกัญชากลับไปเป็นสิ่งเสพติดเหมือนเดิม โดยอยากให้มีการพูดคุยกันระหว่างผู้ประกอบการและภาครัฐเพื่อที่จะช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการและหาทางออกร่วมกันเนื่องจากขณะนี้ผู้ประกอบการมีความกังวลอย่างมาก
นางแสงพิรุณ วงศ์ตะวัน อายุ 30 ปี ผู้จัดการ บริษัทโฟร์ทเวนตี้แคร์ จำกัด กล่าวว่า หากกัญชาถูกนำกลับไปเป็นยาเสพติดจริง โดยส่วนตัวก็มีทั้งกังวลและไม่กังวล โดยในส่วนเรื่องที่ว่าไม่กังวลนั้นเพราะร้านได้เปิดขายโดยมีการขออนุญาตตามที่ สสจ. กำหนดทุกอย่าง ทั้งขออนุญาตขายและการเก็บข้อมูลลูกค้าที่อายุเกิน 20 ปีบริบูรณ์ ซึ่งร้านเก็บข้อมูลส่ง สสจ. ทุกเดือนจึงค่อนข้างที่จะไม่กังวลในเรื่องนี้ เพราะที่ร้านมีสโลแกนว่า สะอาด ถูกต้อง ใส่ใจผู้บริโภค และคำนึงถึงสังคม
“เรื่องที่ว่ากังวลจะเป็นเรื่องกฎหมายที่ยังไม่ชัดเจนนั้น ที่ร้านเองก็ยังตั้งรับไม่ถูก จึงได้แต่รอเวลาอย่างเดียวว่ากฎหมายจะไปทิศทางไหน ซึ่งที่ยังไม่ชัดเจนก็คือกฎหมายการควบคุมดูแล ร้านค้าที่ขาย ว่ามาตรฐานจะต้องประมาณใด และเรื่องที่สำคัญอยากให้ร้านค้ากัญชาแบบนี้ทุกร้านช่วยทำการขออนุญาตขายให้ถูกต้องตามกฎหมายจะทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจด้านนี้อยู่ได้นานขึ้น”
นางแสงพิรุณ กล่าวต่ออีกว่า ถ้านำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดเหมือนเดิมอยากให้มีการพูดคุยกันระหว่างกลุ่มผู้ใช้และภาครัฐอยากให้หาทางออกร่วมกันจะควบคุมแบบไหน ถ้านำกลับไปเป็นยาเสพติดจริงๆก็อยากจะให้ใช้ในทางการแพทย์มากกว่าและลดการสันทนาการลงเพราะในประเทศไทยคนที่ใช้ในทางการแพทย์มีเยอะมาก หากมีการเปลี่ยนแปลงกลับไปเหมือนเดิมต้องมีการคุยกันแบบจริงๆ
“ที่ขอนแก่นเริ่มจะมีการตั้งสมาคมเรื่องกัญชาแบบจริงๆ เพื่อที่จะเป็นตัวกลางเชื่อมด้านการใช้ ด้านธุรกิจ หาราคากลางร่วมกันไม่ใช่แค่เรื่องการใช้งานเพียงอย่างเดียวและอาจจะคุยไปถึงการให้มีแพทย์ประจำร้านเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ อาจจะต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์จำหน่ายสำหรับผู้ที่มีใบสั่งยาเท่านั้น เรื่องการสันทนาการถ้ากลับไปเป็นยาเสพติดจริงๆ คนที่น่าห่วงไม่ใช่ผู้ใช้น่าจะเป็นเกษตรกรที่ทำเป็นวิสาหกิจชุมชน ผู้ค้ารายย่อยเพราะว่ากว่าจะมาเป็นธุรกิจต้องลงทุนไปเยอะค่อนข้างจะกระทบมากพอสมควรและปัญหาตอนนี้ของผู้ปลูกคือไม่มีตลาดที่จะรับซื้อผลผลิตมากพอเท่าที่ควร”
ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว/สนใจลงโฆษณาติดต่อ นิตยา สุวรรณสิทธิ์ -0628929797 >