ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ ดูได้จากการที่ภาครัฐเริ่มออกมาประกาศผ่อนคลายล็อกดาวน์เรื่อยๆ แต่ก็ยังคงต้องประเมินสถานการณ์กันวันต่อวัน ก่อนจะมีการคลายล็อกดาวน์ทั้งระบบ
หลังจากที่รัฐประกาศผ่อนคลายให้ประชาชนสามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้ แต่ยังต้องเข้มงวดมาตรการป้องการแพร่ระบาดเช่นเดิม สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งก็เริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามากิน มาเที่ยวได้บ้างแล้ว ทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยต้องเร่งเครื่องปั้นมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวออกมา เพื่อฟื้นการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวในประเทศให้เร็วที่สุด
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บอกว่า ททท.ได้หารือกับกระทรวงการคลังแล้ว และได้ข้อสรุป 2 มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ระยะเวลาดำเนินการ 4 เดือน ระหว่างเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม 2563 โดยเตรียมนำเสนอเข้าสู่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้านี้
โดย 2 แพ็กเกจ สำหรับกระตุ้นการท่องเที่ยว ที่ ททท. เสนอ ได้แก่
- แพ็กเกจ “กำลังใจ” แพ็กเกจนี้เพื่อตอบแทนบุคลากรที่ปฏิบัติงานแนวหน้าในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เช่น เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จำนวน 1,200,000 คน โดยสนับสนุนงบประมาณสำหรับการศึกษาดูงาน (3 วัน 2 คืน) โดยผ่านบริษัทนำเที่ยวในประเทศ
- แพ็กเกจ “เที่ยวปันสุข” จะเป็นการแจกบัตรกำนัลดิจิทัลสำหรับการท่องเที่ยวภายในประเทศ แต่จะต้องเป็นการเดินทางข้ามจังหวัด สำหรับประชาชนทั่วไปที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 4,000,000 คน โดยจะเปิดลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์ ซื้อบัตรกำนัลสำหรับเป็นค่าห้องพักแล้วเมื่อประชาชนนำบัตรกำนัลดังกล่าวไปเช็กอินห้องพัก ทางรัฐบาลจะโอนเงินคืนให้กับประชาชน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้จ่ายในโรงแรม เช่น ห้องพัก ห้องอาหาร สปา และ ร้านขายสินค้าที่ระลึกต่อไป
อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของวงเงินยังไม่ได้ข้อสรุป แต่เป้าหมายแรก คือแพ็กเกจฟรีเพื่อบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งวงเงินยังไม่ได้ข้อสรุปร่วมกัน ส่วนแพ็กเกจที่สอง ยังต้องหารือกันอีกรอบว่ารัฐบาลจะจ่ายเงินให้ทีเดียวประมาณ 2,000 บาท หรือ 3,000 บาทต่อคน หรือวงเงินรวมประมาณ 8,000 ล้านบาท หรือ 12,000 ล้านบาท
ด้านนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.จะหารือกับ ททท. เกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นและดูแลการท่องเที่ยวในวันพรุ่งนี้ (4 มิ.ย.63) และคาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนอีกครั้งภายในสัปดาห์นี้ ก่อนที่จะเสนอไปยังคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 1 ล้านล้านบาท เนื่องจากมาตรการที่ออกมาจะต้องใช้งบประมาณในส่วนของการฟื้นฟู จำนวน 400,000 ล้านบาท จากนั้นจึงจะเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาอนุมัติ เพื่อนำมาประกาศใช้ให้ทันในช่วงไตรมาส 3 นี้ หรือในช่วงตั้งแต่เดือน ก.ค. เป็นต้นไป
มาตรการที่ภาครัฐเตรียมจะปล่อยออกมาหลังจากนี้ เชื่อว่าทุกฝ่ายย่อมหวังว่าจะมีประสิทธิภาพ และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง เพราะที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยบอบช้ำมามากแล้ว ซึ่งการเริ่มต้นจากภาคการท่องเที่ยวก็น่าจะเป็นทางลัดของการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ดีไม่น้อย หลังจากนี้คงต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมมือจากทุกคนเพื่อให้เศรษฐกิจกลับมากระเตื้องได้อีกครั้ง