สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จัดการประชุม เพื่อหาสาเหตุการขัดข้อง และแนวทางการแก้ไข ในส่วนของการใช้งานระบบเทคโนโลยี VAR หรือ Video Assistant Referee ที่เกิดขึ้นในการแข่งขันฟุตบอล “โตโยต้า ไทยลีก” ในช่วงที่ผ่านมา
ภายในที่ประชุม นำโดย คุณพาทิศ ศุภะพงษ์ เลขาธิการสมาคมฯ, มร.เบนจามิน ตัน ที่ปรึกษาและผู้อำนวยการคลับ ไลเซนซิงสมาคมฯ, คุณฉัตริน มงคลศิริ รักษาการหัวหน้าฝ่ายพัฒนาผู้ตัดสินสมาคมฯ พร้อมด้วยตัวแทนจาก บริษัท ไอ-สปอร์ต จำกัด, เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาผู้ตัดสิน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดการแข่งขัน บริษัท ไทยลีก จำกัด
ภายหลังการประชุม พาทิศ ศุภะพงศ์ เลขาธิการสมาคมฯ กล่าวว่า “วันนี้ทางบริษัท ไอ-สปอร์ต ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ดูแลระบบ VAR ได้เข้ามาหารือกับสมาคมฯ เพื่อหาทางออก และแก้ไขการทำงาน ของระบบเทคโนโลยี VAR ตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา ในการแข่งขันฟุตบอลรายการโตโยต้า ไทยลีก หลังจากพบปัญหาขัดข้องในการใช้งาน โดยทางสมาคมฯ ได้ให้บริษัท ไอ-สปอร์ตอธิบายเหตุการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงข้อเสนอแนะในทุกๆ กรณี”
“สำหรับการทำงานของระบบเทคโนโลยี VAR นั้นต้องใช้ความเสถียรของผู้ให้บริการในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ไอ-สปอร์ต, ฮอว์ก อาย และ แคท เทเลคอม ซึ่ง ไอ-สปอร์ต แจ้งว่าการทำงานของระบบเทคโนโลยี VAR มีผู้ให้บริการหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการส่งสัญญาณภาพจากสนามมาสู่ห้อง VAR แบบเรียลไทม์ผ่านไฟเบอร์ออปติกของแคท เทเลคอม รวมถึงระบบส่งสัญญานเสียงที่ผู้ตัดสินใช้พูดคุยกันระหว่างเกมในสนามถึงห้อง VAR และระบบเครื่องปฏิบัติการของ VAR ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศโดยบริษัท ฮอว์ค อาย ซึ่งหลายๆ ภาคส่วนกำลังตรวจสอบไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริง”
ขณะที่ ฉัตริน มงคลศิริ รักษาการหัวหน้าฝ่ายพัฒนาผู้ตัดสินสมาคมฯ กล่าวว่า “เบื้องต้นในกรณีที่ต้องแก้ไขปัญหา ที่อาจส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ของห้องปฏิบัติการและระบบที่เคยได้วางไว้ก่อนหน้านี้ จึงจำเป็นต้องรอให้ถึงช่วงพักการแข่งขัน เพื่อไม่ให้กระทบกับการแข่งขันที่กำลังจะเกิดขึ้น และอาจส่งผลกระทบไปถึงการบริหารงานภายนอก เช่น สายไฟเบอร์ออปติก ภาพและเสียง ที่เราต้องเช่าสัญญาณ โดยขณะนี้คู่สัญญานกำลังพยายามติดต่อประสานงาน เพื่อตรวจสอบว่าเกิดอะไรขึ้นในแต่ละกรณี ทำไมสัญญานถึงหายไประหว่างเกม”
“ส่วนทาง ไอ-สปอร์ต ที่ดูแลเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่อยู่หน้าสนาม ต้องมีการสื่อสารกันให้ชัดเจน ว่าช่วงไหน เกิดอะไรขึ้นบ้าง มีการแก้ไขโดยทันทีแล้วหรือยัง รวมถึงการติดตั้งกล้องในทุกๆ ครั้ง การใช้ระบบของ VAR นั้นมี 2 รูปแบบซึ่งในต่างประเทศยกตัวอย่างในพรีเมียร์ลีก อังกฤษใช้ VAR ในรูปแบบที่มีห้อง VAR อยู่ในทุกๆ สนามแข่งขัน ซึ่งค่าการดูแลรักษาห้อง VAR ในทุกๆ สนาม เช่น เครื่องปรับอากาศรักษาอุณหภูมิห้อง, ระบบการรักษาความปลอดภัยนั้น ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ฝ่ายจัดการแข่งขันจะต้องเป็นผู้ดูแล และอีกแบบหนึ่งก็คือการมีห้อง VAR แบบระบบศูนย์กลาง (Centralized) อยู่ ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ซึ่งเป็นแบบเดียวกับที่ทางสมาคมฯ ใช้ในการแข่งขันไทยลีก เพราะต้องมองถึงความเหมาะสม เพื่อให้สมาคมฯ ดูแลจัดการได้เองอย่างทั่วถึง’’
“ด้วยระยะทางระหว่างสนามจนถึงห้องปฏิบัติการของไทยลีก ทำให้มีการเชื่อมโยงไปถึงระบบสาธารณูปโภคของบ้านเราด้วย ตัวอย่างเช่น สัญญาณมือถือ หรืออินเตอร์เน็ตในบางครั้ง ที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน ก็จะมีการดรอปของสัญญาณเป็นบางช่วงตามพื้นที่ ซึ่งเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของแต่ละประเทศว่าจะวางระบบไว้อย่างไร แต่ในการใช้ VAR เราต้องการความเสถียรของทุกคู่สัญญาณมากกว่า 95% ตลอดระยะเวลาแข่งขัน”
“ส่วนที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เราได้มีการพูดคุยกับทาง ฮอว์ค อาย ให้เช็คสัญญาณที่เข้ามาจากต่างประเทศ เพื่อเฝ้าสังเกตการณ์ความเสถียรของระบบ และให้ตรวจสอบหาสาเหตุว่า ปัญหาเกิดขึ้นจากซอฟต์แวร์ หรือตัวอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ เมื่อรับทราบปัญหาแล้ว สมาคมฯ จะจัดการปัญหาและพัฒนา การใช้ VAR ในไทยลีกให้ดียิ่งขึ้นให้ได้”
สำหรับปัญหาเกี่ยวกับระบบเทคโนโลยี VAR ที่เกิดขึ้น ในระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา ในการแข่งขันฟุตบอลโตโยต้า ไทยลีก 2020 พบว่าเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกัน อาทิเช่น สัญญานเสียงขัดข้อง จากตัว Gateway ของอุปกรณ์สื่อสาร, สัญญานภาพขัดข้อง จากสัญญาณไฟเบอร์ออปติกของเครือข่ายส่งสัญญาณมีปัญหา และสัญญานภาพขัดข้อง จากโปรแกรมแยกสัญญาณภาพถ่ายทอดสด
โดยตามหลักการของ FIFA และ IFAB ผู้ออกกติกาแข่งขันฟุตบอล (Laws of the Game) นั้น เทคโนโลยี VAR ถือเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการช่วยตัดสิน ซึ่งการตัดสินใจทั้งหมดขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ตัดสินที่ 1 ในสนาม ไม่ว่า VAR จะอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้หรือไม่