(มีคลิป)คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมมือกับ 7 หน่วยงาน จัด KM Show and Share เปิดพื้นที่พัฒนาศักยภาพ ต่อยอดกระบวนการจัดการเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอกองค์กร สู่นวัตกรรมการจัดการศึกษา และขยายผลการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ของผลงาน ตอบสนองต่อนโยบายของประเทศ
เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.00 น. คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ 7 หน่วยงาน ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น เทศบาลนครขอนแก่น สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดขอนแก่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาขอนแก่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 1 วิทยาลัยอาชีวศึกษาขอนแก่น และ วิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น จัดโครงการการประกวดและนําเสนอผลงานนวัตกรรมทางการศึกษา ในหัวข้อ “ KM Show and Share : Good Practice for Best Innovation” ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 โดยได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธาน และ รศ.ดร.อิศรา ก้านจักร คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ กล่าวรายงาน พร้อมด้วยผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษาทุกสังกัด เข้าร่วมงานกว่า 200 คน ณ ห้องประชุมสายสุรี จุติกุล คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รศ.ดร.อิศรา ก้านจักร คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวรายงานว่า โครงการ KM Show and Share : Good Practice for Best Innovation ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 นี้ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ดำเนินภายใต้ KM Road Map ซึ่งได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี พ.ศ.2563 และ ในปี 2567 นี้ ได้ขยายผลการจัดการความรู้ไปสู่การต่อยอดสู่นวัตกรรม และค้นหา Best Practice เพื่อนำไปสู่ การสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อส่งคุณค่าให้กับสังคม และเชิงพาณิชย์ การจัดกิจกรรมครั้งนี้ มีการจัดแสดงและการประกวดผลงานนวัตกรรมทางการศึกษา ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดพื้นที่พัฒนาศักยภาพทางด้านการศึกษา เกิดการเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอกองค์กร ตลอดจนการต่อยอดพัฒนาและขยายผลการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู์ของผลงาน
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ขอขอบคุณคณะศึกษาศาสตร์ และ 7 หน่วยงาน ที่ร่วมแรงร่วมใจกันจัดงานนี้ ถือว่าอีกหนึ่งกิจกรรมที่ได้ใช้กระบวนการจัดการความรู้ที่อาศัยทั้งบุคคลภายในและภายนอกองค์กรอย่างหลากหลาย ขอแสดงความชื่นชมยินดีกับผลงานต่าง ๆ ของนักเรียน นักศึกษาที่นำมาจัดแสดงในวันนี้ ทำให้มองเห็นความหวังของประเทศที่บุคลากรทางด้านการศึกษา มีวิธีการสร้าง วิธีการปลูกฝังเด็กให้รู้จักคิดรู้จักสร้างสรรค์ผลงาน พร้อมการแก้ไขปัญหา ต่าง ๆ ได้ดี จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ หรือชิ้นงานที่สามารถนำไปใช้งานจริงได้ต่อยอดได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเด็กระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา คือ ถ้าเราจะสร้างเด็กครูจะต้องปลูกฝังให้เด็กเรื่องความคิด หรือ Idea Thinking เด็กต้องมีความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิด กล้าแสดงออก คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์เป็น ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานต่าง ๆ ออกมาได้เป็นอย่างดี การดำเนินการทุกกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อทำให้เกิดความตระหนักกับบุคลากรทางการศึกษา ในการให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้ ต่อยอดจากกระบวนการจัดความรู้จนกระทั่งเกิดเป็นนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา และเผยแพร่สู่สาธารณชน นำไปสู่การนำผลงานไปใช้ในการพัฒนาองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองต่อนโยบายของประเทศ โดยนำความรู้และประสบการณ์ที่เกิดจากการพัฒนาและต่อยอดในการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาไปสู่การจัดการเรียนรู้ และการวิจัย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน โรงเรียน และการศึกษาของชาติต่อไป
ด้าน อ.รัตนาภรณ์ ลังกาวงค์ โรงเรียนบ้านยะพอ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 จังหวัดตาก กล่าวว่า มีความปลื้มใจที่วันนี้ได้มีโอกาสพานักเรียนมาร่วมนำเสนอผลงาน ซึ่งเป็น 1 ใน 27 ผลงาน ที่ผ่านการคัดเลือกมาจัดแสดงที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นวันนี้ คือ “นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างนวัตกรพัฒนาเมืองรุ่นเยาว์ด้วยกระบวนการ Design-a-thon” ประเภท นวัตกรรมของอาจารย์ / ครู (ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทุกสังกัด) ซึ่ง Design-a-thon (ดีไซด์อะทอน)เป็นการผสมผสานระหว่าง Design Thinking ร่วมกับ Make Education ภายใต้แนวคิด “คิดได้ ทำเป็น เห็นคุณค่า” นักเรียนมีความสามารถ มีทักษะการคิดเชิงออกแบบ สามารถสร้างโมเดลจากความคิดหล่านั้นเพื่อพัฒนาตนเองและเป็นความรู้ให้กับชุมชน สามารถพัฒนาชุมชนได้และเป็นนวัตกรพัฒนาเมืองได้ด้วยเช่นกัน ขอขอบคุณคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และอีก 7 หน่วยงานที่จัดงานดีๆ ขึ้นมา เพื่อให้ได้มีโอกาสและพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสถาบันการศึกษาอื่น ๆ เปิดโลกทัศน์ทางด้านการศึกษา เพื่อนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมในบริบทของพื้นที่การศึกษาที่ตนเองรับผิดชอบต่อไป
สำหรับการจัดงานครั้งนี้มีผลงานนวัตกรรมทางการศึกษา 27 ผลงาน จาก 68 ผลงาน จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ที่ผ่านกระบวนการคัดครองจากคณะกรรมผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายหน่วยงาน ได้ทำการคัดเลือกผลงานที่ผ่านเกณฑ์มาจัดแสดง และเข้าร่วมการประกวดผลงานนวัตกรรมทางการศึกษา มีการคัดเลือกเพื่อค้นหาผลงานที่จะเป็น Best Innovation ประจำปี 2567 ผ่านการนำเสนอในรูปแบบ Pitching โดยการจัดประกวดผลงานนวัตกรรมทางการศึกษา มีการแบ่งผลงานทั้งหมดออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่
- นวัตกรรมของผู้บริหารการศึกษา
- นวัตกรรมของอาจารย์ (ระดับอุดมศึกษา)
- นวัตกรรมของอาจารย์/ครู (ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน / สังกัดโรงเรียนสาธิตฯ / สังกัดอาชีวะ)
- นวัตกรรมของศึกษานิเทศก์
- นวัตกรรมของนักศึกษา (กลุ่มนักศึกษาปริญญาตรี/กลุ่มบัณฑิตศึกษา)
- นวัตกรรมของนักเรียน (กลุ่มประถมศึกษา/กลุ่มมัธยมศึกษา)
โดยมีพิธีมอบรางวัล KM Show and Share : Good Practice for Best Innovation 3 ประเภทก่อนการปิดงาน ได้แก่ รางวัล Beginning Innovation รางวัล Good Innovation และรางวัล Best Innovation ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมครั้งนี้ ถือเป็นพื้นที่พัฒนาศักยภาพ เกิดการเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอกองค์กร ตลอดจนการต่อยอดพัฒนาและขยายผลการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ของผลงาน
ข่าว : เบญจมาภรณ์ มามุข/ ภาพข่าว- นิตยา สุวรรณสิทธิ์