เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 25 พ.ค. 2567 ที่ โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โอทอปประเภทผ้าและงานหัตถกรรม ในชื่อกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการโอทอปประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้าและงานหัตถกรรม (Coaching) ผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้กำหนดจัดกิจกรรมขึ้น โดยมี ผวจ.,ประธานแม่บ้านมหาดไทย,พัฒนาการจังหวัด และผู้ประกอบการโอทอปในกลุ่มช่างทอผ้าและงานหัตถกรรมเข้าร่วมกิจกรรมอย่างพร้อมเพรียง
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กรมพัฒนาชุมชน รับหน้าที่สำคัญจากกระทรวงมหาดไทย สานต่อพระราชปณิธานอันแน่วแน่ ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ จ.อุบลราชธานี พร้อมพระราชทานแบบลายผ้า “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” ซึ่งเป็นลายที่ได้ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายผืนผ้าจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และทรงนำมาออกแบบลายพระราชทาน เนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ 6 รอบ 72 พรรษา โดยพระราชทานแบบตั้งต้นไว้ 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทผ้ากาบบัว, ประเภทผ้ายก, จก, ขิด, แพรวา, ประเภทผ้ามัดหมี่ และประเภทผ้าบาติก ซึ่งสามารถนำลายพระราชทานหลัก ทั้ง 4 ประเภทนี้ ไปถักทอผสมผสานกับลวดลายภูมิปัญญาพื้นถิ่นตามความคิดสร้างสรรค์ ต่อไป
“โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการโอทอปประเภทผ้าและหัตถกรรม เป็นการสืบสาน ต่อยอดงานผ้าไทยและงานหัตถกรรม ตามแนวทางพระราชดำริ ของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาศักยภาพ องค์ความรู้ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้า และงานหัตถกรรม ครอบคลุมใน 4 พื้นที่ ประกอบด้วย กระบี่ ,น่าน ,พระนครศรีอยุธยา และขอนแก่น โดยขอนแก่น เป็นจุดดำเนินการที่ 4 ครอบคลุมพื้นที่ใน 20 จังหวัด ภาคตะวันออกฉียงเหนือ ซึ่งภายในงาน จะได้รับความรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและงานหัตถกรรม ประกอบไปด้วย นักออกแบบเครื่องแต่งกายที่มีชื่อเสียง อาจารย์มหาวิทยาลัยในสาขาที่เกี่ยวข้อง”
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า การอบรมดังกล่าวได้เพิ่มในเรื่องของเทคนิคการจับคู่สีตามเทรนบุ๊ค (Thai Textiles Trend Book) เทคนิคการออกแบบลายพระราชทาน เทคนิคการออกแบบผลิตภัณฑ์ ด้วยการใช้เส้นใยและวัสดุจากธรรมชาติ การสาธิตการย้อมสีธรรมชาติ หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การสร้างกลยุทธ์ทางการตลาด และการจำหน่าย (Marketing & Sale) และ การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้เป็นแฟชั่นร่วมสมัยซึ่งความรู้ เทคนิค และประสบการณ์ ที่ได้รับในโครงการ ยังสามารถนำไปพัฒนาและเพิ่มพูนองค์ความรู้ทักษะการทอผ้าของตนเองให้ดียิ่งขึ้น เพื่อร่วมกันสืบสาน รักษา และต่อยอดภูมิปัญญาด้านผ้าไทยสู่ชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนอีกด้วย
ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว/สนใจลงโฆษณาติดต่อ นิตยา สุวรรณสิทธิ์ -0628929797