เมื่อเวลา 08.30 น.วันที่ 8 ส.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ที่บ้านนาเพียง ต.สำราญ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่เลี้ยงปลาในกระชัง ตามแนวแม่น้ำพอง หลังจากที่ทางจังหวัด และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำจังหวัดมีมติในการเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ เป็นวันละ 20-22 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลกระทบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชัง อย่างมาก ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ากระแสน้ำในแม่น้ำพองเริ่มเชี่ยวกราดตามการระบายน้ำของเขื่อน ทำให้เกษตรกรต้องเร่งเสริมความแข็งแรงของกระชัง และแพลอยน้ำ รวมทั้งติดตามสถานการณ์น้ำในระยะนี้อย่างใกล้ชิด
นายธวัชชัย บุญใบ อายุ 57 ปี อยู่บ้านเลขที่ 176 บ้านนาเพียง ม.4 ต.สำราญ อ.เมือง จ.ขอนแก่น กล่าวว่า เลี้ยงปลาในกระชังมาตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปัจจุบัน โดยในรอบของการเลี้ยงปลาในกระชังนั้น จะอนุบาลลูกปลา 2 เดือน จากนั้นก็นำลงกระชังเลี้ยงต่ออีก 4 เดือน จึงจับขึ้นมาขาย โดยใน 1 ปีจะเลี้ยง 3 รอบ
“ปัจจุบันเลี้ยงปลานิลและปลาทับทิม ส่งขายให้พ่อค้าแม่ค้าในตลาดสด โดยเมื่อเลี้ยงครบ 4 เดือนจับส่งขายจะได้ประมาณ 50 ตัน โดยปลานิลจะส่งขายในราคากิโลกรัมละ 65 บาท ปลาทับทิมส่งขายกิโลกรัมละ 85 บาท ขณะนี้เลี้ยงปลา 2 ชนิดรวมทั้งหมด 170 กระชัง ให้อาหารวันละ 50 กระสอบ โดยซื้ออาหารปลามากระสอบละ 650-750 บาท”
นายธวัชชัย กล่าวต่ออีกว่า ตั้งแต่เลี้ยงปลาในกระชังมา ไม่เคยได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือจากรัฐบาล ทั้งที่การทำกระชังปลาในลำน้ำพอง ได้ขออนุญาตจากกรมเจ้าท่า และสำนักงานประมงเป็นที่เรียบร้อย มีเพียงบางครั้งที่เจ้าหน้าที่ประมงมาแจ้งเรื่องวิกฤติน้ำ ในลำน้ำพอง เพราะบางทีช่วงหน้าแล้งน้ำน้อย ก็จะต้องเก็บกู้กระชังขึ้นจากน้ำ
“ในฐานะเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง แม้ไม่ช่วยเหลือเรื่องอื่น ก็อยากขอความเห็นใจ ขอให้ดูแลคนเลี้ยงปลาบ้าง ปล่อยน้ำออกมาจะต้องทยอยปล่อย อย่าเร่งปล่อยออกมาเยอะ เพราะหน้าแล้งลำน้ำพองจะไม่มีน้ำ เราเคยขาดน้ำมาแล้ว มันจะเกิดผลกระทบกับคนเลี้ยงปลา อยากให้พิจารณาช่วยเหลือประชาชนในทุกๆกลุ่มอย่างรอบคอบ เพราะเมื่อเดือน พ.ค.-ก.ค. ที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศทำให้ปลาตาย เพราะปลาที่จับขึ้นมาได้ จับได้เพียง 1-2 ตันเท่านั้น ไม่พอกับความต้องการของลูกค้า และแม้ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างที่ปลาที่เลี้ยงไว้กำลังปรับตัว ก็มาประสบปัญหากับการที่ทางจังหวัดปล่อยน้ำออกมา ซึ่งเกรงว่าปลาจะช็อคและเกิดตายซ้ำอีก”