เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 16 ที่ โรงแรมเพชรรัชต์การ์เด้น จังหวัดร้อยเอ็ด นายนพดล จอมเพชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานเปิด การฝึกอบรมเกษตรกร เรื่อง “กลยุทธ์และเทคโนโลยีไม่เผาตอซังในนาข้าว” เป็นความร่วมระหว่างองค์กรวินร็อคอินเตอร์แนชั่นแนล เป็นองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา โดยในวันนี้ดำเนินโครงการเรนในประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด จัดฝึกการอบรมรณรงค์ไม่เผาตอซัง โดยมีนางสาวจิราภรณ์ โชติพานิช ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการโครงการเรน พร้อมด้วย รศ.ดร.ไกรเลิศ ทวีกุล ผู้ประสานงานโครงการ Chi river No Burn และเกษตรกร นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร จากอำเภอจังหาร เชียงขวัญ เสลภูมิ และทุ่งเขาหลวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการอบรมกว่า 130 คน
นางสาวจิราภรณ์ โชติพานิช ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการโครงการเรน กล่าวว่า โครงการนี้ดำเนินการในพื้นที่ 4 จังหวัดลุ่มน้ำชี ภายใต้ชื่อ Chi River No Burn Project (โครงการไม่เผาในลุ่มน้ำชี) ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด จะได้ดำเนินกิจกรรมหลัก 4 ด้าน คือ 1) การอบรมเชิงปฏิบัติการ 2) การสร้างเครือข่ายเกษตรกร 3) การสร้างความร่วมมือ และ 4) การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ซึ่งในกิจกรรมเหล่านี้โครงการเรนจะได้สนับสนุนเกษตรกรให้ใช้นวัตกรรมเพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน
“สำหรับองค์กรวินร็อคอินเตอร์แนชั่นแนล เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ทำโครงการต่างๆทั่วโลกเพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ รักษาทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม โดยได้ดำเนินการในประเทศไทย ชื่อว่า โครงการเรน (RAIN: Thailand Regional Agriculture Innovation Network) ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 5 ปี ดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ 11 จังหวัดของประเทศไทย โครงการนี้จะได้สนับสนุนเกษตรกรรายย่อย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเกษตร โดยจะมีการคัดเลือกเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมสู่เกษตรกรในลดรายจ่าย เพิ่มผลผลิตและรักษาสิ่งแวดล้อม”
นางสาวจิราภรณ์ กล่าวอีกว่า โครงการไม่เผาในลุ่มน้ำชี นี้ จะทำการอบรมแกนนำเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรที่ผ่านการอบรมนำองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับเกี่ยวกับการไม่เผาตอซังข้าว นำขยายผลไปยังเกษตรกรท่านอื่นๆ เพราะในปัจจุบันยังมีเกษตรกรบางรายยังเผาตอวังด้วยเหตุผล คือ กำจัดง่าย เร็ว ลดต้นทุน สะดวก แต่ไม่ได้คำนึงถึงผลเสียที่จะตามมา เช่นหน้าดินถูกทำลายไปพร้อมกับจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อดิน ต่อต้นข้าว ทำให้เกษตรกรใส่ปุ๋ยเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญอย่างหนึ่งเป็นสาเหตุของฝุ่น PM 2.5 ดังนั้นหากไม่มีการเผา ปล่อยให้จุลินทรีย์สลายตอซังแล้วไถกลบ จะส่งผลให้สภาพดินสมบูรณ์ดีมากขึ้น สิ่งแวดล้อมดีขึ้น พืชและสัตว์เล็กๆจะมาอาศัยในแปลงนามากขึ้น
ด้าน รศ.ดร.ไกรเลิศ ทวีกุล ผู้ประสานงานโครงการ Chi river No Burn กล่าวว่า โครงการมีการสร้างเสน่ห์และแรงจูงในให้เกษตรกรเข้าร่วมพร้อมปฏิบัติมากขึ้น โดยหลังจากอบรมให้ความรู้แล้ว เกษตรกรก็จะได้ขยายผลไปยังเพื่อนเกษตรกร ไม่เผาตอซังและมีการใช้จุลินทรีย์ย่อยสลาย เกษตรกรที่ผ่านการอบรมระดับจังหวัด หากสามารถขยายผลได้เป็น 30 คนแรกของแต่ละจังหวัด จะได้รับรางวัลเป็นบัตรกำนัล (วอยเช่อร์) มูลค่า 10,000 บาทต่อคน ที่สามารถไปแลกปัจจัยการผลิตจากหน่วยงานที่ทางโครงการได้ประสานงานไว้ รวมแล้วคิดเป็น 120 รางวัล คิดเป็นมูลค่า 1,200,000 บาท
นอกจากนี้ หลังเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว จะมีการประกวดว่า ชุมชน/หมู่บ้านไหนมีประกวดการจัดการแปลงนาโดยไม่เผาตอซังดีเด่น จังหวัดละ 3 รางวัล รวม 12 รางวัล ขณะเดียวกัน มีการสนับสนุนการทำแปลงสาธิตไม่เผาตอซังและใช้จุลินทรีย์ย่อยสลาย จำนวน 40 แปลง ซึ่งทางโครงการจะสนับสนุนจุลินทรีย์และค่าการเตรียมดินทั้ง 40 แปลง (ค่าไถดะ ไถพรวน) สิ่งเหล่าเป็นกลยุทธ์หนึ่งของโครงการที่ประสงค์ให้เกษตรเปลี่ยนทัศนคติไม่เผาตอซังด้วยการใช้จุลินทรีย์ย่อยสลาย