วันศุกร์, 29 พฤศจิกายน 2567

วธ. นำผู้ประกอบการภาพยนตร์ไทยเปิดตลาดออนไลน์ ในงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ ๗๓ นำเสนอโครงการสร้างภาพยนตร์ไทย ๓ เรื่อง

24 มิ.ย. 2020
414

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) ไปทั่วทุกทวีปทั่วโลก ส่งผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ไม่สามารถจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของประชาชนจำนวนมากได้ ซึ่งในส่วนของการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ เมืองคานส์ (Cannes Film Festival) ครั้งที่ ๗๓ ประจำปี 2020 ณ ประเทศฝรั่งเศส ประเทศเจ้าภาพหลักได้งดการจัดงานในปีนี้ โดยยังคงกิจกรรมตลาดซื้อ-ขายภาพยนตร์ (The Marche Du Film) เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เนื่องจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ถือเป็นตลาดภาพยนตร์ที่มีขนาดใหญ่และเป็นที่รู้จักระดับโลก โดยในปีนี้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบตลาดซื้อ-ขายภาพยนตร์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) มีการเปิดบูธคูหาออนไลน์เสมือนจริง (Virtual Pavilion) ให้ผู้ประกอบการด้านภาพยนตร์และวีดิทัศน์ บริษัทตัวแทนซื้อขายต่างๆ พูดคุยเจรจาธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ มีการจัดฉายผลงานภาพยนตร์ การจัดประชุม สัมมนา รวมทั้งการเจรจาธุรกิจซื้อ-ขาย ลิขสิทธิ์ การระดมทุนต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ ระหว่างวันที่ ๒๒ – ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๓

นายอิทธิพล กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจในการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไทยให้เป็นอุตสาหกรรมหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ในนามทีมไทยแลนด์ นำผู้ประกอบการภาพยนตร์ไทยเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ในงานตลาดภาพยนตร์เมืองคานส์ (Marche du Film) และงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ (Festival de Cannes) มาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และสมาพันธ์ฯ ได้ร่วมเปิดบูธคูหาคอนเทนท์ ไทยแลนด์ ออนไลน์ เป็นบูธเสมือนจริง (Virtual Pavilion) สำหรับประชาสัมพันธ์และซื้อขายภาพยนตร์ โดยมีการคัดเลือกผู้ประกอบการด้านภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไทยที่มีศักยภาพเข้าร่วมนำเสนอภาพยนตร์และศึกษารูปแบบการจัดงานแบบออนไลน์ จำนวน ๑๐ ราย ได้แก่ ๑. สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย ๒. บริษัท เบนีโทน ฟิล์มส์ จำกัด ๓. บริษัท เอ็มพิคเจอร์ส จำกัด ๔. บริษัท โมโนฟิล์ม จำกัด ๕. บริษัท ฮอลลีวู้ด (ไทยแลนด์) จำกัด ๖. บริษัท ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น จำกัด ๗. บริษัท เอ็กซ์ตร้า เวอร์จิ้น จำกัด ๘. บริษัท ไร้ท์บิยอนด์ จำกัด ๙. บริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และ ๑๐. บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เพื่อติดต่อกับผู้ซื้อ และนำเสนอภาพยนตร์เรื่องใหม่และโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่เสมือนเป็นคูหาดิจิตอลในเทศกาลฯ ซึ่งถือเป็นวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ในสถานการณ์โควิด-19

นายอิทธิพล กล่าวว่า นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรมได้นำภาพยนตร์ไทย ๓ เรื่อง ที่ชนะการประกวดจากโครงการสร้างภาพยนตร์เพื่อการร่วมลงทุน ประจำปี ๒๕๖๓ (Thai Film Pitching at Cannes 2020) ได้แก่ ๑. เด็กแฟลต ๒. เมืองมลาย และ ๓. ผีใช้ได้ค่ะ ร่วมประชาสัมพันธ์โครงการสร้างภาพยนตร์เพื่อหาผู้ร่วมลงทุนในคูหาออนไลน์เสมือนจริง รวมทั้งมีการนำเสนอข้อมูลหน่วยงานด้านภาพยนตร์และวีดิทัศน์ภายในประเทศไทย ตลอดจนข้อมูลการขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย และมาตรการคืนเงิน (Cash Rebate) เช่นเดียวกับคูหาประชาสัมพันธ์ในหมู่บ้านนานาชาติ (Village International) นอกจากนี้ มีการรวบรวมข้อมูลภาพยนตร์ไทยที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๖ – ๒๕๖๒ ซึ่งจัดพิมพ์ในหนังสือทำเนียบภาพยนตร์ไทย (Thai Film Directory) และข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 การถ่ายทำรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของประเทศไทย นำเสนอในรูปแบบข้อมูลในเว็บเพจ อย่างไรก็ตามในปีหน้ากระทรวงวัฒนธรรมมีแผนการที่จะนำการจัดตลาดภาพยนตร์ในรูปแบบออนไลน์มานำเสนอในเทศกาลภาพยนตร์ของประเทศไทยด้วย

Loading