วันศุกร์, 29 พฤศจิกายน 2567

นายกรัฐมนตรีตรวจเยี่ยมการปรับวิถีชีวิตชาวศรีสะเกษ New Normal และการพัฒนาเศรษฐกิจผ่านวิถีเกษตรแบบครบวงจรอย่างยั่งยืน

วันนี้ (16 ก.ค.63) เวลา 09.40 น. ณ สวนทุเรียนทับทิม อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมการปรับวิถีชีวิตของชาวศรีสะเกษภายใต้มาตรฐานใหม่ (New Normal) คือการดูแลสุขภาพอนามัยส่วนบุคคลอย่างเหมาะสม มีระยะห่างระหว่างบุคคล และใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าอยู่เสมอ และการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ผ่านวิถีเกษตรแบบครบวงจร โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและบริหารจัดการคุณภาพทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษให้ยั่งยืน การพัฒนาโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนต่าง ๆ โดยพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมตรวจเยี่ยมครั้งนี้ด้วย โดยมี นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ให้การต้อนรับ และรายงานภาพรวมของจังหวัดศรีสะเกษให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ
 
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) หอมแดงศรีสะเกษ และกระเทียมศรีสะเกษ ให้แก่ตัวแทนเกษตรกร ซึ่งการขึ้นทะเบียน GI จะสามารถบ่งบอกได้ว่าสินค้าที่เกิดจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้นมีคุณภาพ ชื่อเสียง หรือคุณลักษณะเฉพาะของแหล่งภูมิศาสตร์ดังกล่าว โดยนายกรัฐมนตรี ขอความร่วมประชาชนช่วยกันเฝ้าระวังและปราบปรามป้องกันไม่ให้มีการนำหอมแดงจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ
 
จากนั้น นายกรัฐมนตรี พบปะเกษตรกร/กลุ่มคนรุ่นใหม่กันทรลักษ์ YSF (Young Smart Farmer) เป็นการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ทดแทนเกษตรกรผู้สูงอายุ และสร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่หันมาประกอบอาชีพเกษตรกรรมมากขึ้น และกลุ่ม YEC (Young Entrepreneur Chamber of commerce) กลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ เพื่อพัฒนาเครือข่ายสมาชิกและธุรกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการเกษตรแบบครบวงจรอย่างยั่งยืน  โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้มีข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในประเด็นต่าง ๆ อาทิ การเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำห้วยตามาย และการบริหารจัดการน้ำ การยกระดับผลผลิต การรักษามาตรฐาน การรับรองมาตรฐาน แปลงผลิตข้าว การลดต้นทุนเทคโนโลยีและเครื่องจักร การแปรรูปมูลค่าเพิ่มผลผลิต เพื่อเพิ่มรายได้ การพัฒนาการท่องเที่ยงผามออีแดง การของบประมาณสนับสนุนการทำเกษตรแปลงใหญ่ การพัฒนาเศรษฐกิจภาพรวมของ จ.ศรีสะเกษ เช่น ถนน น้ำ เป็นต้น
         
โดยนายกรัฐมนตรี ได้แสดงความดีใจที่ได้มาพบกับประชาชน จ.ศรีสะเกษ กลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ และกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ พร้อมขอบคุณสำหรับข้อเสนอและแนวทางที่เสนอต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ซึ่งนายกรัฐมนตรีพร้อมรับข้อเสนอทุกอย่างไปพิจารณาคัดกรองเพื่อดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป โดยจะพิจารณาดำเนินการในเรื่องที่มีความสำคัญเร่งด่วนก่อนเป็นลำดับแรก เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำห้วยตามาย
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงภาพรวมการบริหารจัดการน้ำว่า รัฐบาลได้เตรียมงบประมาณรองรับดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 ถึง 2564 รวมทั้งเตรียมการงบฯ รองรับในปี 2565 ด้วย ซึ่งการดำเนินงานมีความคืบหน้ามาโดยลำดับ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือการกระจายน้ำให้มากขึ้นตามแหล่งน้ำที่มีอยู่ การหาพื้นที่ขุดอ่างรองรับน้ำที่ยังมีปัญหาเรื่องที่ดินที่จะดำเนินการอยู่ ซึ่งรัฐบาลก็พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ทุกภาคส่วน ในการดำเนินการเรื่องอ่างเก็บน้ำทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และแหล่งเก็บน้ำในชุมชน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง รวมถึงจะต้องการหาวิธีจูงน้ำโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย โดยขอให้ใช้น้ำอย่างประหยัด รู้คุณค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้มีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอยั่งยืน และยืนยันว่ารัฐบาลมีการวางแผนและดำเนินการทุกอย่างเป็นระบบทั้งเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ถนน น้ำ การเกษตร อุตสาหกรรม โลจิสติกส์ ฯลฯ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่รัฐบาลกำหนดไว้ พร้อมย้ำการทำงานรัฐบาล New Normal จะเร่งการดำเนินการต่าง ๆ ให้เร็วขึ้น ผ่านการดำเนินงานของหน่วยต่าง ๆ ให้เป็นไปตามแผนและงบประมาณที่มีอยู่ รวมถึงการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย การค้า การลงทุนให้ทันกับสถานการณ์
 
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวให้ความสำคัญกับ SMEs วิสาหกิจชุมชน โดยแนะให้ทุกคนรวมกลุ่มกัน เพื่อรัฐบาลจะสามารถช่วยเหลือได้ และให้เชื่อมโยงการทำงานร่วมกันกับเกษตรแปลงใหญ่ ทั้งนี้ รัฐบาลจะหาวิธีและแนวทางให้หน่วยงานรัฐสามารถซื้อสินค้าและผลิตภัณฑ์จากวิสาหกิจชุมชนได้  พร้อมย้ำ SMEs วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ชุมชนต้องเกิดขึ้นให้ได้และขับเคลื่อนต่อไป  รวมทั้งเน้นถึงการทำเกษตร BCG ลงไปสู่พื้นที่ และการพัฒนาพันธุ์ข้าวอย่างต่อเนื่อง ลดต้นทุนการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสม ขณะเดียวกันให้ปลูกพืชและผลิตสินค้าให้มีความสมดุลในอุปสงค์อุปทาน สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคและตลาด ตลอดจนฝากให้ประชาชนปลูกไม้มีค่า 58 ชนิด ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกับธนาคารและสามารถตัดไปจำหน่ายสร้างอาชีพและรายได้ให้กับครอบครัว และเป็นมรดกให้กับลูกหลานในอนาคตได้อีกด้วย ในตอนท้ายนายกรัฐมนตรี ย้ำจะเร่งแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ยาเสพติด ปัญหานายทุนที่มีการฟอกเงินอย่างจริงจังและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด
 
ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมสวนทุเรียนประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารจัดการคุณภาพ : ทุเรียนภูเขาไฟ พร้อมเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP เช่น ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากทุเรียน ผ้าไหมและฝ้ายที่ย้อมจากดินจอมปลวกภูเขาไฟ กาแฟภูเขาไฟ แคปซูลหอมแดง และน้ำสมุนไพร ฯลฯ ก่อนเดินทางต่อไปยังโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านหนองใหญ่ อำเภอกันทรลักษ์ เพื่อตรวจเยี่ยมการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อไป
 
จังหวัดศรีสะเกษมีศักยภาพเป็น “เมืองเศรษฐกิจชายแดน” มีจุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ เชื่อมโยงการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนกับกัมพูชา มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ ข้าวหอมมะลิ หอม กระเทียม และผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษพันธุ์หมอนทอง ซึ่งเป็นผลไม้ที่ขึ้นชื่อของศรีสะเกษที่ปลูกด้วยดินภูเขาไฟ และมีรสชาติอร่อยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย รวมทั้งผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ที่มีศักยภาพต่าง ๆ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้แก่จังหวัดเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจังหวัดศรีสะเกษ ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาไปสู่การเป็น “ดินแดนเกษตรปลอดภัย การค้าและการท่องเที่ยวครบวงจร” 

Loading