นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการที่ได้มอบนโยบายให้ นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เร่งให้ความช่วยเหลือการจัดการศึกษาของโรงเรียนเอกชนทั้งในระบบและนอกระบบ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ทำให้โรงเรียนไม่สามารถเปิดทำการเรียนการสอนได้ตามปกติ แต่ในขณะเดียวกันยังคงต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย และเงินเดือนครู บุคลากร เช่นเดิมนั้น ขณะนี้ได้รับรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานหลายส่วนแล้ว
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณทาง สช.ที่นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในการประชุมหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ตลอดจนทำความเข้าใจในกระบวนการ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ครู บุคลากร และโรงเรียนและสถานศึกษาเอกชน ได้รับทราบและเข้าถึงการรับสิทธิประโยชน์ที่พึงมีพึงตามมาตรการของรัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องและทันตามกรอบระยะเวลา โดยเฉพาะการหารือร่วมกับสำนักงานกองทุนสงเคราะห์ เพื่อหามาตรการบรรเทาความเดือดร้อน และเสริมสภาพคล่องของโรงเรียนและสถานศึกษาเอกชน ใน 2 ส่วน คือ การงดคิดดอกเบี้ยและค่าปรับสินเชื่อเพื่อสวัสดิการ (กองทุนเลี้ยงชีพ) ลูกหนี้เดิม เป็นเวลา 6 เดือน (เดือนพฤษภาคม – ตุลาคม 2563) และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สินเชื่อเพื่อสวัสดิการ เหลือ 4% ต่อปี ในโครงการที่ 3-4 โดยมีผลอัตโนมัติ พร้อมจัดตั้งสินเชื่อเพื่อสวัสดิการ (เงินทุนเลี้ยงชีพ) โครงการ 5 เพื่อขยายสิทธิ์ให้กับสมาชิกที่มีอายุงาน 5 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี ได้มีสิทธิ์กู้สินเชื่อ ร้อยละ 90 ของเงินสะสม (3%) ส่วนสมาชิกที่มีอายุงาน 10 ปีขึ้นไป กู้ได้ร้อยละ 90 ของเงินสะสมและเงินสมทบ (12%) ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป
“มาตรการจัดตั้งสินเชื่อเพื่อสวัสดิการ โครงการ 5 เกิดจากแนวคิดที่ต้องการจะขยายสิทธิ์ให้กับสมาชิกที่มีอายุงาน 5 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี ได้มีสิทธิ์กู้สินเชื่อเพื่อสวัสดิการของตนเอง เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของครูและบุคลากรใหม่ ๆ ในขณะเดียวกัน ครูที่เป็นสมาชิกมานานแล้ว ก็จะได้แบ่งเบาภาระในการชำระค่างวดที่น้อยลงด้วย
นอกจากนี้ ยังได้บูรณาการทำงานร่วมกับ ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม และผู้แทนสมาคมโรงเรียนเอกชน เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับการยื่นขอรับเงินทดแทนในกรณีว่างงาน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย อันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 เพื่อรับเงินทดแทนจากกองทุนประกันสังคม 62% ของค่าจ้าง เป็นเวลา 90 วัน (3 เดือน) ซึ่งมีบุคลากรโรงเรียนเอกชน ที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จำนวนประมาณ 100,000 คน รวมทั้งให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่บุคลากรโรงเรียนเอกชน ในการลงทะเบียนเพื่อรับเงินเยียวยา 5,000 บาทต่อเดือน ตามมาตรการของรัฐบาล สำหรับดูแลและเยียวยาแรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ทางเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกัน เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนจากผลกระทบโรคติดเชื้อ COVID-19 ด้วย” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว