เว็บไซต์รัฐบาลไทย เปิดเผยว่า เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ย้ำทุกคนจะต้องปรับตัวสู่ “ความปกติใหม่” หรือ New Normal เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนหรือยารักษาโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ศบค. ได้เตรียมแพลตฟอร์มสำหรับผู้ประกอบกิจการ เพื่อรองรับการผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 2 วัตถุประสงค์หลักคือ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบกิจการ จากรูปเดิมที่ใช้วิธีการจดบันทึกลงสมุดเมื่อมีผู้เข้าใช้บริการ โดยแพลตฟอร์มชื่อว่า “ไทยชนะ” จะใช้วิธีการ Check – In ซึ่งผู้ประกอบการลงทะเบียนออนไลน์ สร้าง QR Code นำมาติดไว้หน้าร้าน ประชาชนแสกน QR Code ก่อนและหลังการใช้บริการ บางกิจการที่อาจมีความแออัดหรือมีผู้เข้าใช้บริการเยอะ เช่น ร้านตัดผม ก็จะสามารถดูจากแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ได้เพื่อหลีกเลี่ยงสถานที่แออัดได้
โฆษก ศบค. เผยว่า หากห้างสรรพสินค้าเปิดให้บริการเพิ่มเติมนอกเหนือจากซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านบริการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ก็สามารถใช้แพลตฟอร์มนี้ได้เช่นกัน เพื่อประโยชน์แก่ผู้ใช้บริการตรวจสอบจำนวนผู้ใช้บริการภายในห้างสรรพสินค้า รวมถึงให้คะแนนกิจการต่างๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าสำหรับผู้ประกอบการที่ให้บริการดี ทั้งนี้ แพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” จะใช้เพียงเบอร์โทรศัพท์เพื่อแสกนการใช้งาน สำหรับผู้ที่ไม่มีโทรศัพท์ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ อาจต้องใช้วิธีการจดบันทึกควบคู่กันไป ยืนยันว่าการใช้แพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” เป็นการป้องกันแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกสองและชุดข้อมูลเหล่านี้จะถูกรวบรวมไว้ที่กระทรวงสาธารณสุขเพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนเท่านั้น จึงขอความร่วมมือให้ทุกคนร่วมกันเพื่อปรับเข้าสู่ “ความปกติใหม่” ไปด้วยกัน
โฆษก ศบค. ชี้แจงว่า ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ถ้ามีศักยภาพเพียงพอ เนื่องจากวัคซีนดังกล่าวมีหลายระดับและมีราคาที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคจะให้บริการกับผู้ที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เช่นกัน ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้จำนวนตัวเลขของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในประเทศลดลง เนื่องจากโรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเช่นเดียวกันกับโรคโควิด-19 เมื่อประชาชนดูแลป้องกันตนเอง ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือเมื่อสัมผัสสิ่งต่างๆ จึงส่งผลให้จำนวนตัวเลขผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่นั้นลดลงด้วย
สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในประเทศไทย มีรายงานผู้ป่วยใหม่ 1 ราย ทำให้ผู้ป่วยยืนยันสะสมเพิ่มเป็น 3,018 ราย ผู้ที่หายป่วยเพิ่มขึ้น 6 ราย รวมผู้ที่หายป่วยแล้ว 2,850 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มยังคงที่ 56 ราย ผู้ที่ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 112 ราย สำหรับผู้ป่วยพบใหม่ 1 ราย ถือว่ายังเป็นที่น่าพอใจ ในการเข้าสู่การประกาศมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 โดยเป็นผู้ป่วยชายไทยอายุ 39 ปี อาชีพรับจ้าง ภูมิลำเนาจังหวัดเชียงใหม่แต่เคยทำงานที่จังหวัดภูเก็ต ออกเดินจากจังหวัดภูเก็ตวันที่ 2 พฤษภาคม 63 เพื่อกลับบ้านที่จังหวัดเชียงใหม่พร้อมลูกและภรรยา ได้รับการตรวจจากการดำเนินการค้นหาผู้ป่วยจากวิธีการของ อสม. ในพื้นที่เชียงใหม่พบว่าติดเชื้อ มีข้อวิเคราะห์คือ 1. ผู้ป่วยเป็นคนเชียงใหม่ที่มาจากจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยง 2. ไม่มีอาการป่วย อยู่ในวัยทำงานอายุ 20-39 ปี ต้องให้ความสำคัญกับ อสม. ที่สามารถดึงผู้ป่วยรายนี้เข้ามารับการตรวจแล้วพบเป็นผลบวกยืนยัน รวมทั้งสื่อสารไปยังผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดภูเก็ต หากมีอาการหรืออยากจะเข้ารับการตรวจ ให้เข้ามาตรวจได้ มีไข้หรือไม่ก็ได้ มีอาการเพียงแค่จมูกไม่ได้กลิ่น ก็เข้ามารับการตรวจได้
สำหรับพื้นที่ที่ยังมีอัตราการป่วยสะสมมากกว่า 10 คนต่อแสนประชากร อยู่ที่ 5 จังหวัด จังหวัดที่มีการรายงานผู้ป่วยช่วง 28 วันที่ผ่านมามี 19 จังหวัด ขณะที่จังหวัดที่ไม่มีการรายงานผู้ป่วยในช่วง 28 วันที่ผ่านมาคือ 49 จังหวัด และมี 9 จังหวัดที่ไม่มีการรายงานผู้ป่วยมาก่อนเลย โดยกรุงเทพฯ ยังเป็นอันดับ 1 ของจำนวนผู้ป่วย และภูเก็ตยังเป็นอันดับ 1 ในอัตราผู้ป่วยต่อแสนประชากรเช่นเดิม
โฆษก ศบค. ยังกล่าวถึงข้อสงสัยที่อาจวินิจฉัยว่าเป็นโรคปอดอักเสบ ปอดบวมและอื่น ๆ ว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้นำสถิติสถานการณ์โรคปอดอักเสบหรือนิวมอเนียในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 9 พฤษภาคม 63 รวม 18 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ช่วงต้นปีมีผู้ป่วยติดเชื้อโรคปอดอักเสบจำนวนมาก แต่หลังจากนั้นมีการรณรงค์เรื่องการใส่หน้ากากอนามัย รณรงค์การกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ทำให้นอกจากจะดีต่อโรคโควิด-19 แล้ว ยังสามารถจัดการควบคุมได้ดีกับโรคปอดอักเสบด้วย และจำนวนผู้ป่วยโรคปอดอักเสบยังลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยผู้ป่วยปอดอักเสบยังมีจำนวนไม่ถึงหลักพันในสัปดาห์ที่ 18 และสัปดาห์ที่ 17 มีจำนวน 1,000 เศษ ๆ ทั้งนี้ เมื่อเข้าฤดูร้อน โรคต่าง ๆ จะลดลงแล้วไปเพิ่มขึ้น โฆษก ศบค. ยังยืนยันว่า สธ. ดูแลทุกโรคอย่างดีเหมือนกัน เพราะไม่ว่าโรคใดเป็นโรคระบาดล้วนแต่มีผลต่อสุขภาพทางกายและเศรษฐกิจทั้งสิ้น
ส่วน รายงานผลจากการปฏิบัติการจากการประกาศมาตรการเคอร์ฟิวประจำวันที่ 14 พ.ค. 2563 โดยศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงพบว่า พบผู้กระทำความผิดกรณีชุมนุมมั่วสุม 87 ราย เพิ่มขึ้น 40 ราย ผู้กระทำความผิดกรณีออกนอกเคหสถาน 557 ราย เพิ่มขึ้น 6 ราย โดยเหตุของการชุมนุมมั่วสุม 3 ลำดับแรกคือ อื่น ๆ ร้อยละ 47 ยาเสพติดร้อยละ 23 และลักลอบเล่นการพนันร้อยละ 22