ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) เผยโฉมแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคโควิด-19 ช่วยให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรนระยะ 2 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผศ.(พิเศษ) นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านสื่อสารโทรคมนาคม และสื่อสังคมออนไลน์ ร่วมแถลงข่าวของศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า คณะทำงานบูรณาการชุดข้อมูลการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของ ศบค. ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม ชื่อว่า “ไทยชนะ” เพื่อเป็นผู้ช่วยดิจิทัลในการทำงานเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงการแพร่กระจายโรคโควิด-19 ได้ง่ายขึ้นเมื่อมีการประกาศมาตรการผ่อนปรน ระยะ 2
จุดเด่นของแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” จะเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยให้การสอบสวนโรคทำได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว ขณะที่ ประชาชนและสถานประกอบการต่าง ก็สามารถปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรนได้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
“การใช้งาน “ไทยชนะ” จะเป็นประโยชน์กับประชาชน ให้ได้รับการแจ้งเตือนหากพบความเสี่ยงในการติดเชื้อ และสามารถนำข้อมูลไปเป็นหลักฐาน เพื่อประกอบการรับการตรวจคัดกรองทาง ห้องปฏิบัติการฟรี อีกทั้งสามารถตรวจสอบความเสี่ยงของสถานที่ให้บริการ ขณะที่ ทางฝั่งผู้ประกอบการที่ปฏิบัติตามมาตรการ ก็จะได้รับการรับรอง อีกทั้งสามารถนำผลการประเมินมาปรับปรุงการบริการให้เป็นไปตามมาตรการที่กำหนด” นพ.พลวรรธน์กล่าว
สำหรับการใช้งานแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” จะมีผู้เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย ได้แก่ 1.กิจการ/กิจกรรมที่ได้รับการผ่อนปรน ตามมาตรการควบคุมโรค 5 ข้อ เพื่อรับ QR Code และพิมพ์ QR แปะไว้หน้าร้านค้า 2.ประชาชน เมื่อจะเข้าไปใช้บริการในร้านค้า/สถานประกอบการ check-in โดยใช้โทรศัพท์มือถือสแกนคิวอาร์โค้ดหน้าร้าน เมื่อใช้เสร็จก็ check-out ผ่านการสแกน QR อีกทั้งสามารถทำแบบประเมินความพึงพอใจในการใช้บริการร้านค้านั้นๆ ซึ่งคะแนน (เรตติ้ง) จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ร้านค้า/สถานประกอบการแข่งขันให้บริการที่ดี และ 3. เจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรค และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งมีหน้าที่ตรวจการปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรนฯ ของ ศบค. ในการเข้าปฏิบัติการทุกครั้ง จะต้องมีการแสดงตัวตนผู้พิทักษ์ ก่อนเข้าตรวจสอบร้านค้า ซึ่งข้อมูลที่ลงทะเบียนไว้กับ “ไทยชนะ” จะแสดงข้อมูลชื่อ รูปติดบัตร และข้อมูลเจ้าหน้าที่รายนั้นๆ โดยร้านค้าสามารถสแกน QR ผ่านมือถือเพื่อตรวจสอบว่าเป็นผู้พิทักษ์จริง
“ประชาชนไม่ต้องกังวลเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลในการเข้าลงทะเบียนใช้งานแพลตฟอร์มไทยชนะ เนื่องจาก ศบค. พิจารณามอบหมายให้ กรมควบคุมโรคเป็น ผู้ควบคุมข้อมูล และให้กระทรวงการคลัง(ธนาคารกรุงไทย) เป็นผู้ประมวลผลข้อมูล เป็นการร่วมกันทำงานด้านระบบบูรณาการข้อมูลเพื่อบริหารสถานการณ์โควิด-19” นพ. พลวรรธน์กล่าว