ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ตอบคำถามสื่อมวลชนผ่านโซเซียลมีเดียช่วงการแถลงข่าวของศูนย์ข่าวโควิด-19 และสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
โฆษก ศบค. เผยขอความร่วมมือให้ทุกผู้ประกอบกิจการ/กิจกรรม ลงทะเบียนแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” เพื่อให้สะดวกต่อผู้ที่เข้าใช้บริการว่าสถานที่ในร้านมีความแออัดหรือไม่ รวมถึงผู้ประกอบกิจการจะได้ประโยชน์หากพบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อภายในร้าน ทั้งนี้ ยังสะดวกต่อเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบค้นหาผู้ติดเชื้ออีกด้วย วันนี้ ภายหลังการเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่เวลา 06.00 น. มียอดผู้ลงทะเบียนร้านค้าทั้งสิ้น 11,599 ร้าน 10 อันดับที่ลงทะเบียนสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี นนทบุรีสมุทรปราการ ปทุมธานี เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี นครราชสีมาขอนแก่น และสงขลา ตามลำดับ
โฆษก ศบค. ยืนยันการใช้ “ไทยชนะ” สำหรับผู้เข้าใช้บริการนั้นเพียงนำโทรศัพท์สแกน QR Code ของแต่ละร้าน และใช้เบอร์โทรศัพท์ในการลงทะเบียน จากนั้นทำการ Check – In เมื่อเข้าใช้บริการและทำการ Check – Out หลังจากใช้บริการเสร็จ หากมีการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในพื้นที่ แพลตฟอร์ม“ไทยชนะ” จะสามารถระบุบุคคลในพื้นที่เพื่อทำการตรวจหาเชื้อได้ง่าย และผู้ที่ถูกจัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงจะได้รับการตรวจหาเชื้อแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ ยังมีเบอร์โทรศัพท์หมายเลข1119 สำหรับผู้ประกอบกิจการ/กิจกรรม หรือ ประชาชน เพื่อสอบถามข้อมูลหากมีเหตุขัดข้องในการลงทะเบียน และยังมีช่องทางแอปพลิเคชัน LINE เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้อีกด้วย
โฆษก ศบค. ชี้แจงข้อสงสัยระหว่างแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” และแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ว่า แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” มีไว้สำหรับกรอกแบบสอบถามเพื่อทดสอบความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึงตรวจสอบข้อมูลความเสี่ยงการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสในแต่ละพื้นที่ด้วย แต่แพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” เป็นระบบที่มีขนาดใหญ่กว่าและครอบคลุมมากกว่า
โฆษก ศบค. ชี้แจงกรณีหากมาตรการผ่อนคลายในระยะสองมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ไม่พบผู้ติดเชื้อระลอกใหม่ จะมีการพิจารณาไม่ขยายต่อ พรก.ฉุกเฉิน หรือนำกฎหมายอื่นๆ เช่น พรบ.ควบคุมโรค เข้ามาใช้แทนหรือไม่นั้นว่า ผอ. ศบค. ได้มอบให้คณะกรรมการด้านกฎหมายไปศึกษา ทั้งนี้ คณะกรรมฯ รวบรวมและนำเสนอหากต้องมีการปรับเปลี่ยน ซึ่งการประกาศพรก.ฉุกเฉินเป็นการรวบรวมกฎหมายในด้านต่างๆ ทำให้เกิดมาตรการในการดูแลสังคม รวมถึงประชาชนในช่วงที่สถานการณ์ของโรคมีความรุนแรง แม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยจะสามารถควบคุมโรคได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องประมวลกฎหมายในหลายๆ ด้านมาประกอบกัน เพื่อควบคุมทั้งการนำเชื้อเข้ารวมถึงการควบคุมผู้ติดเชื้อภายในประเทศให้อยู่ในการดูแลได้ทั้งหมดอย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของโลกยังมีการติดเชื้ออยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งยังต้องศึกษาถึงผลกระทบเพื่อนำเสนอต่อ ผอ. ศบค. คณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาระยะเวลาการประกาศพรก. ฉุกเฉินต่อไป
ทั้งนี้ โฆษก ศบค. เผยว่า ที่ประชุม ศบค. ยังให้ความสำคัญถึงแนวโน้มจำนวนการรับคนไทยเข้าประเทศในแต่ละวัน ถือเป็นสิทธิ์ของคนไทยที่มีความประสงค์จะเดินทางกลับมายังภูมิลำเนาโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถรองรับคนไทยที่กำลังจะเดินทางกลับเข้ามาในประเทศจากเดิมที่กำหนดไว้ 200 รายต่อวัน ขณะนี้มีความพร้อมเพิ่มขึ้นเป็น 300 รายต่อวัน ทั้งนี้ในการเดินทางกลับจะต้องมีความพร้อมในหลายด้าน ทั้งการลงทะเบียนเดินทางกลับ ความพร้อมของเครื่องบิน และความพร้อมของสถานที่รองรับ
ในตอนท้าย โฆษก ศบค. กล่าวว่า การดูแลสุขภาพของตนเองเป็นเรื่องที่สำคัญ ในขณะที่สังคมส่วนรวมก็ต้องได้รับความช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี ขอความร่วมมือทุกท่านในการช่วยกันดูแลสุขภาพสังคมและประเทศไปด้วยกัน