มข.สั่งตรวจสอบผลงานวิจัย และนักวิจัย ว่าเข้าข่ายผิดระเบียบหรือไม่ หลังนักวิชาการไทยแฉการซื้อขายงานวิจัยออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ในต่างประเทศ
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 12 ม.ค. 2566 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ที่ จ.ขอนแก่น ว่า ภายหลังจากที่มีนักวิชาการไทยในต่างประเทศรายหนึ่ง ได้ออกมาแฉวงการนักวิชาการไทยว่า มีการซื้อขายงานวิจัยออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ต่างประเทศ โดยหลังจากที่ทราบข่าวทางมหาวิทยาลัยได้ให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างบัณฑิตวิทยาลัยได้ตรวจสอบผลงานวิจัยของนักศึกษาบัณฑิต พร้อมได้ให้ฝ่ายวิจัยตรวจสอบนักวิชาการว่ามีลักษณะการทำงานแบบที่ปรากฏเป็นข่าวหรือไม่
“ระหว่างนี้อยู่ในช่วงการดำเนินการอยู่กำลังดูว่านักวิจัยที่มีผลงานมากจนผิดปกติหรือมีการทำงานวิจัยข้ามศาสตร์แบบที่เป็นข่าวหรือไม่ ทั้งหมดกำลังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบ ซึ่งแต่ละปี มข.มีงานวิจัยประมาณ 1,400 เรื่อง เรื่องการตรวจสอบต้องเป็นงานที่มากและละเอียดพอสมควร และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่โดยระบบวิจัยของประเทศทุกสถาบันมีกลไกอยู่แล้วตั้งแต่เรื่องทำงานวิจัย ตั้งแต่เรื่องของคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ในสัตว์ทดลองรวมถึงแหล่งทุนที่ให้วิจัยจะมีการตรวจสอบ และเวลาจะตีพิมพ์ผลงานทุกวารสารของงานวิจัยจะมีคณะกรรมการบรรณาธิการและวารสารส่วนใหญ่ที่มีคุณภาพต้องมีนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิมาตรวจสอบ”
รศ.นพ.ชาญชัย กล่าวต่ออีกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะมีช่องโหว่หรืออาจจะมีวารสารบางประเภทที่การทำวิจัยนั้นไม่ได้มีกลไกลที่รัดกุม จึงมีผู้ที่หาผลประโยชน์อาศัยช่องโหว่นี้คิดว่าเป็นส่วนน้อยอาจจะมีไม่ถึง 1% ของงานวิจัย แต่ก็สร้างความเสียหายทำให้งานวิจัยนั้นขาดความน่าเชื่อถือต้องแก้ไขทำให้งานวิชาการนั้นมีความเชื่อมั่นขึ้น
” เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเป็นจริยธรรมงานวิจัยถือว่าเป็นการทำผิดการวิจัยอย่างร้ายแรง และหากเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยก็จะมีเรื่องการผิดวินัยขั้นร้ายแรงเป็นเรื่องการไม่สุจริตทางวิชาการต้องมีแนวทางมีกลไกมีระเบียบสอบสวนหาข้อเท็จจริงและมีการพิจารณาบทลงโทษตามลำดับต่อไป”
ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว/สนใจลงโฆษณาติดต่อ นิตยา สุวรรณสิทธิ์ -0628929797 >