วันพฤหัสบดี, 28 พฤศจิกายน 2567

น่าห่วง!! นศ.จบใหม่ มิ.ย.นี้ 2.8-3 แสนคน จะหางานไม่ได้กว่า 60%

02 มิ.ย. 2020
681

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่าประเมินเศรษฐกิจไทยกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยหลังการผ่อนปรนหรือคลายล็อกดาวน์เฟส 3 กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดือน มิ.ย. ช่วยทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาส 2 หดตัวหรือติดลบลดลงไม่ต่ำกว่า 1-2% โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ม.รังสิต คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะติดลบประมาณ 10-11% จากเดิมคาดว่าจะหดตัวประมาณ 12-13% จะทำเศรษฐกิจไทยโดยภาพรวมครึ่งปีแรกมีจีดีพีติดลบประมาณ-5.44 ถึง -5.93% ความเสียหายทางเศรษฐกิจขั้นต่ำจากวิฤกตการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกไม่นับรวมความเสียหายของโอกาสทางเศรษฐกิจ ปัญหาทางสังคมและการว่างงานรวมทั้งต้นทุนค่าเสียโอกาสอื่น ๆ อยู่ที่ระดับ 496,713-455,233 ล้านบาท 

ทั้งนี้มาตรการการคลังและมาตรการการเงินรวมเม็ดเงินสาธารณะประมาณ 1.9 ล้านล้านบาทนั้นไม่เพียงพอต่อการฟื้นเศรษฐกิจและการสร้างตำแหน่งงานจำนวนมาก เงิน 1.9 ล้านล้านบาทเพียงช่วยประคับประคองสถานการณ์ไม่ให้เศรษฐกิจทรุดตัวลงกว่าเดิมเท่านั้น อย่างไรก็ตามแม้นสถานการณ์การทรุดตัวและติดลบทางเศรษฐกิจในเดือน มิ.ย. จะกระเตื้องขึ้นบ้างแต่จะไม่มีผลต่อการขยายตัวของการจ้างงานใหม่ ๆ ในตลาดแรงงานมากนัก โดยแรงงานส่วนใหญ่ที่มีงานทำเป็นแรงงานที่มีประสบการณ์ จะมีนักศึกษาที่จบการศึกษาใหม่ในระดับปริญญาตรีและระดับวิชาชีพในเดือน มิ.ย. นี้ประมาณ 280,000-300,000 คน โดยมากกว่า 60% ของแรงงานบัณฑิตใหม่เหล่านี้จะไม่สามารถหางานทำได้ในระยะ 6-18 เดือนข้างหน้า ส่วนนักเรียนในระดับมัธยมปลายและมัธยมต้นที่เข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่จะมีโอกาสหางานทำได้มากกว่าหากไม่เลือกงาน แรงงานกลุ่มนี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ (Unskilled labour) จะเข้ามาทดแทนแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านบางส่วนที่ไม่เคลื่อนย้ายกลับมาทำงานในไทย 
    
ผศ.ดร.อนุสรณ์ วิพากษ์มาตรการช่วยเหลือของรัฐจากงบประมาณและการกู้เงินเพิ่มเติมว่า เป็นมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจเท่านั้น ช่วงแรกของการดำเนินงานไม่ทั่วถึงและสับสนแต่ตอนหลังจัดระเบียบดีขึ้นบ้าง การช่วยเหลือเป็นแบบกระท่อนกระแท่นเป็นเพราะระบบฐานข้อมูลเพื่อการบริหารประเทศอ่อนแอ ระบบประกันสังคมไม่ครอบคลุมแรงงานอิสระและเกษตรกร รัฐบาลตัดสินใจผิดที่ปิดน่านฟ้าช้าเกินไปไม่เหมือนไต้หวัน แต่ตอนหลังกลับตัวทันจึงนำมาสู่ความสำเร็จในการควบคุมการติดเชื้อได้แต่บนต้นทุนทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล 

การปิดเมืองกะทันหันแบบไม่เตรียมการช่วงแรก จนคนแห่เดินทางออกต่างจังหวัดและเกิดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อกระจายไปทั่วประเทศในช่วงเดือน เม.ย. ด้วยระบบอาสาสมัครสาธารสุขในท้องถิ่นจึงหยุดการแพร่กระจายได้ในหลายจังหวัดและตนยังมีความมั่นใจว่าเราสามารถรับมือกับการระบาดระลอกสองได้แน่นอน ทั้งนี้จากงานวิจัยทางด้านเศรษฐมิติของ ศ.ดร.กิตติ ลิ่มสกุล พบว่าการออกพระราชกำหนดปิดธุรกิจ ปิดเมือง ห้ามการเดินทางข้ามจังหวัด และ เคอร์ฟิว ฯ หากประมาณอย่างหยาบการปิดเมืองทำให้การบริโภคลดลง เท่ากับสามแสนล้านต่อ 1 เดือนของการปิดเมือง หากปิดเมืองต่อไปถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมการบริโภคจะลดลงเท่ากับหกแสนล้านบาท ดีที่ว่ามีการผ่อนปรนแล้วในเดือน มิ.ย.

ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าขณะนี้ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูปจะยังไม่ประเมินอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจทั้งปีใหม่ โดยขั้นต่ำคาดว่าจีดีพีทั้งปีจะติดลบไม่ต่ำกว่า 5% การยังไม่ประเมินตัวเลขเศรษฐกิจใหม่เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงที่มีความไม่แน่นอนสูง ทั้งความขัดแย้งในฮ่องกงเรื่องกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ของจีนที่นำมาสู่ความขัดแย้งและการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับชาติตะวันตกนำโดยสหรัฐอเมริกา การก่อการจลาจลในเมืองใหญ่จากปัญหาการเหยียดผิวในสหรัฐฯจะซ้ำเติมเศรษฐกิจและการลงทุนในสหรัฐฯที่มีปัญหาอยู่แล้ว นอกจากยังมีการระบาดระลอกสองของโรค Covid-19 ในหลายประเทศในยุโรปและเกาหลีใต้หลังการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ 

นอกจากนี้ยังมีความวิตกกังวลการกลายพันธุ์ของเชื้อโรคไวรัสโควิด 19 จากการระบาดกลุ่มใหม่ในมณฑลจี๋หลินและมณฑลเฮย์หลงเจียง ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนติดชายแดนรัสเซีย อย่างไรก็ตาม มีความมั่นใจในระบบสาธารณสุขไทยและพลังความร่วมมือของประชาชนชาวไทยทุกภาคส่วน พร้อมทั้งสภาพอากาศที่ร้อนมาก ๆ การระบาดระลอกสองของไทยอาจไม่รุนแรงเท่าประเทศอื่นจะเป็นผลดีให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ในช่วงครึ่งปีหลัง 

ส่วนการค้นพบวัคซีนป้องกันโรค Covid-19 จะเป็นปัจจัยบวกอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจโลกและไทยแต่ยังคงต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 1 ปีถึง 2 ปี อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและไทยในปีนี้จะมีความไม่แน่นอนสูงมาก ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 และปัจจัยเสี่ยงใหม่อื่น ๆ จะพัฒนาไปอย่างไรและมีลักษณะผลกระทบแบบปลายเปิด จากการประเมินล่าสุดสามารถชี้ชัดว่าได้เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจขึ้นแล้วในบางประเทศรวมทั้งไทย โดยภูมิภาคที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ ละตินอเมริกา สัญญาณที่ชัดเจนสุด คือ การผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรรัฐบาลอาร์เจนตินา และภาวการณ์ล่มสลายอย่างสิ้นเชิงของระบบการเงินและเศรษฐกิจของเวเนซูเอลา 

Loading