วันพฤหัสบดี, 28 พฤศจิกายน 2567

โควิด-19 ฉุดยอดใช้ FTA-GSP ลด แนะพลิกวิกฤตเร่งส่งออกอาหาร เครื่องดื่ม เกษตรแปรรูป

05 มิ.ย. 2020
773

กรมการค้าต่างประเทศเผยยอดใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA และ GSP ช่วง 3 เดือนปี 63 มีมูลค่า 16,249.72 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 9.97% เหตุได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำหลายประเทศล็อกดาวน์ แต่พบภายใต้วิกฤตสินค้ากลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม เกษตรแปรรูป มีการส่งออกเพิ่มขึ้น แนะผู้ประกอบการใช้สิทธิพิเศษภายใต้ FTA และ GSP ก่อนทำการส่งออก

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในช่วง 3 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-มี.ค.) ว่า มีการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้ารวมมูลค่า 16,249.72 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 9.97% มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ฯ คิดเป็น 75.53% ของการใช้สิทธิทั้งหมด แบ่งเป็นการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA มูลค่า 14,911.35 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 10.95% และการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP มูลค่า 1,338.37 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.62%

สาเหตุที่ทำให้การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าลดลง เพราะได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้หลายประเทศมีการปิดเมือง พรมแดน และปิดประเทศชั่วคราว ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตจนไปถึงการขนส่งสินค้า โลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ทำให้การส่งออกไปบางตลาดลดลง จึงส่งผลให้มีการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าลดลงตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม พบว่า มีสินค้าหลายรายการที่มีการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าเพิ่มขึ้น จากความต้องการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่น เครื่องดื่ม อาหาร และเกษตรแปรรูป ที่ยังคงขยายตัวได้ดี โดยสินค้าที่มีการใช้สิทธิ FTA ส่งไปอาเซียนเพิ่ม เช่น นม UHT นมถั่วเหลือง เพิ่ม 101.62% น้ำ รวมถึงน้ำแร่และน้ำอัดลม เพิ่ม 59.62% น้ำตาลที่ได้จากอ้อยหรือหัวบีต เพิ่ม 208.60% , ส่งออกไปจีน เช่น ทุเรียนสด เพิ่ม 79.93% ผลไม้อื่นๆ เช่น ลำไย เงาะ ลางสาด เพิ่ม 41.31% ชิ้นเนื้อและเครื่องในไก่แช่แข็ง เพิ่ม 53.90% ส่งออกไปนิวซีแลนด์ เช่น ปลาทูน่าปรุงแต่ง เพิ่ม 34.02% อาหารปรุงแต่งที่ทำจากเกร็ดธัญพืช เพิ่ม 43.55% พืชผัก ผลไม้ ลูกนัต เปลือกผลไม้และส่วนอื่นของพืช ที่ทำไว้ไม่ให้เสียโดยใช้น้ำตาล เพิ่ม 57.14% เป็นต้น

ส่วนสินค้าที่มีการใช้สิทธิ GSP ส่งออกไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น เช่น อาหารปรุงแต่งอื่นๆ เพิ่ม 8.63% น้ำผลไม้และน้ำพืชผักที่ไม่ได้หมักและไม่เติมสุรา เพิ่ม 50.12% อาหารปรุงแต่งที่ทำจากธัญพืชหรือผลิตภัณฑ์ธัญพืช เพิ่ม 10.44% ส่งออกไปรัสเซียและเครือรัฐ เช่น พืช ผลไม้ปรุงแต่ง เพิ่ม 0.81% สัปปะรดกระป๋อง เพิ่ม 1.49% ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโต เพิ่ม 8.77%) เป็นต้น

“ในช่วงโควิด-19 ระบาด เราเป็นครัวของโลกได้เป็นอย่างดี สินค้าในกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม อาหารปรุงแต่ง มีโอกาสขยายตัวได้สูง เพราะสินค้าไทยมีคุณภาพ มีมาตรฐาน มีความปลอดภัย จึงมีข้อแนะนำให้ผู้ประกอบการที่จะส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้ อย่าลืมที่จะใช้ประโยชน์จาก FTA ที่ไทยมีอยู่ 13 ฉบับ และใช้สิทธิ GSP ก่อนที่จะทำการส่งออก เพื่อสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าไทย เพราะสินค้ากลุ่มนี้ ยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก”นายกีรติกล่าว

สำหรับการใช้สิทธิ FTA จำนวน 11 ฉบับ (ไม่รวมอาเซียน-ฮ่องกง ที่ภาษีเป็น 0% และไทย-นิวซีแลนด์ ที่ใช้ระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของผู้ส่งออก) มีการใช้สิทธิไปตลาดอาเซียนสูงสุด รองลงมา คือ จีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย ส่วนการใช้ GSP มีการใช้สิทธิส่งออกไปสหรัฐฯ สูงสุด ตามด้วยสวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐ และนอร์เวย์

Loading